เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กรุนแรงระดับ G4 โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานการเกิดพายุสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งบ่งชี้ด้วยค่า Kp index ขึ้นสู่ระดับ Kp index = 8 หรือความรุนแรงระดับ G4 สาเหตุของพายุสนามแม่เหล็กโลกในครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลาสมาหรือฟิลาเมนท์ (Filaments) และการปลดปล่อยก้อนมวลโคโรนา (ตามภาพที่ 1) ผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจจะมีผลกับการปฏิบัติงานของดาวเทียม ความผิดพลาดของค่าการระบุพิกัด GPS ส่งผลกระทบกับงานด้านวิศวสำรวจ การรังวัดที่ดิน และเกษตรอัจฉริยะซึ่งใช้รถไร้คนขับ เป็นต้น นอกจากนี้ หลายประเทศ ที่ตั้งอยู่ ณ พื้นที่ทางเหนือและทางใต้บริเวณใกล้ขั้วโลก (High latitudes) จะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์แสงเหนือและแสงใต้ได้
สำหรับการติดตามและการวิเคราะห์สภาพอวกาศที่อาจกระทบกับประเทศไทย ทาง กระทรวง อว. โดย GISTDA ได้วิเคราะห์จากระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ (JASPER) พบว่าค่า local K index บริเวณประเทศไทยอยู่ในระดับ 5 หรือระดับ G1 ซึ่งมีความรุนแรงน้อย กล่าวโดยสรุป คือ พายุสนามแม่เหล็กในครั้งนี้อาจจะส่งกระทบเพียงเล็กน้อยกับประเทศไทย (ตามภาพที่ 2)
ทั้งนี้ ทาง GISTDA ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์พายุสนามแม่เหล็กโลกอย่างต่อเนื่อง หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะกระทบประเทศไทย จะแจ้งให้ทราบโดยทันที
#GISTDA #อว #NOAA #องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ #JASPER #พายุสนามแม่เหล็ก #spaceweather #spaceinnovation #spacetechnology #space