เกี่ยวกับ สทอภ.
ประวัติความเป็นมา
ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ NASA ERTS-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2514 ภายใต้การดำเนินงานของโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดย ทำหน้าที่ ประสานงาน จัดหาข้อมูลดาวเทียม ดำเนินการวิเคราะห์ข้มูล ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนจัดหาทุนฝึกอบรม ดูงาน และการประชุม ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ด้วยผลสำเร็จของโครงการ จึงได้มีการเปลี่ยนสถานภาพโครงการฯ เป็นหน่วยงานระดับกองชื่อ กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม ใน พ.ศ.2522 และใน พ.ศ.2525 ได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร นับเป็นสถานีรับแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อปี 2541 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และด้วยความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีด้านการสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ใน พ.ศ.2543 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่โดยรวมกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 ในนามของ " สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) " ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2543
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีตัวย่อว่า "สทอภ." และมีชื่อภาษาอังกฤษ "Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) - GISTDA" เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ตราสัญลักษณ์
ตราสัญลักษณ์ GISTDA
ดาวน์โหลดโลโก้หน่วยงานและอัตลักษณ์องค์กรอื่นๆ | คู่มือการใช้ระบบเอกลักษณ์
องค์ประกอบหลักของตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย
ชื่อ GISTDA สีน้ำเงินเข้ม
ตัวอักษร G มีเส้นวงโคจรไล่ระดับสีเขียว-สีน้ำเงินเข้มล้อมรอบ หมายถึงการโคจรของดาวเทียมสำรวจโลก
รูปโลกเหนือตัวอักษร I คือการสำรวจโลกซึ่งเป็นภารกิจสำคัญขององค์กร
ตัวอักษรที่มีเส้นขอบไม่เรียบและไม่สม่ำเสมอสะท้อนให้เห็นความขรุขระของพื้นผิวโลกและความเป็นธรรมชาติ
ตัวอักษรที่เอียงแสดงถึงพลวัตของหน่วยงาน การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องขององค์กรรวมทั้งนวัตกรรมที่รังสรรค์ขึ้นและส่งมอบต่อสังคม
สีในตราสัญลักษณ์:
สีน้ำเงินเข้มแทนทรัพยากรน้ำ
สีฟ้าของรูปโลกแทนสีของท้องฟ้าและอวกาศ
สีเขียวแทนทรัพยากรบนพื้นดิน พืชพรรณและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม
วิสัยทัศน์ขององค์กร
เป็นองค์กรในการนำคุณค่าจากอวกาศและภูมิสารสนเทศสู่สังคม
เป้าประสงค์
พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เป็นความรู้ไร้พรมแดนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
พันธกิจ
1. พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เป็นความรู้ที่ไร้พรมแดนและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม
2. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศจากข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลสำรวจจากแหล่งอื่น ๆ
3. ให้บริการข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งรวมทั้งการจัดทำแผนที่และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง
4. ให้บริการจัดหาเครื่องมือ ออกแบบ หรือบริการใด ๆ โดยใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้แก่หน่วยงานของรัฐ
5. ให้บริการให้คำปรึกษาและพัฒนาบุคลากรในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
6. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งรวมทั้งการจัดหา การพัฒนา และการสร้างระบบดาวเทียม
7. กำหนดมาตรฐานกลางด้านภูมิสารสนเทศ และให้บริการรับตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรฐานกลางดังกล่าว รวมถึงส่งเสริมการนำมาตรฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปใช้
8. ส่งเสริมความร่วมมือและให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หน่วยงานภายใน
- กลุ่มผู้บริหารระดับสูง
- สำนักบริหารกลาง
- สำนักยุทธศาสตร์
- สถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA Academy)
- สำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้
- สำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ
- สำนักผลิตภัณฑ์ภูมิสารสนเทศ
- สำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ
- สำนักปฎิบัติการดาวเทียม
- สำนักตรวจสอบภายใน
- สำนักพัฒนาธุรกิจและเครือข่ายพันธมิตร
- สำนักโครงการธีออส 2