Head GISDTDA

“ภาคการเกษตรจะปรับตัวอย่างไร เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป”

1 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ จิสด้า จัดสัมมนา "ภาคการเกษตรจะปรับตัวอย่างไร เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป" โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสภาพอากาศและด้านการเกษตร และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและอนาคต การประเมินผลกระทบและแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็น ภาคส่วนที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจำนวนมาก อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคส่วนนี้ แต่ความสำเร็จหรือความมั่นคงของภาคการเกษตรของไทยนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่ เหมาะสม เนื่องจากระบบเกษตรไทยส่วนใหญ่เป็นระบบเกษตรที่อาศัยดินฟ้าอากาศ ดังนั้น ประเด็นเรื่องดินฟ้าอากาศ ฝนมากไป ฝนน้อยไป ฝนทิ้งช่วง ตกไม่ตรงตามฤดู ตลอดจนอุณหภูมิและความชื้นอากาศในแต่ละฤดู จะส่งผลโดยตรงกับผลผลิตเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ยังส่งผล ทางอ้อมอีกหลายประการต่อความมั่นคงทาอาหารและระบบเกษตรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก เปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดิน ความเข้มของแสง และอัตราการระเหยน้ำผิวดินในปีที่มีอากาศร้อนจัด เป็นต้น ทั้งนี้ความแปรปรวนของสภาพอากาศเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่เสมอในปัจจุบันและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ภาคการเกษตรไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงตลอดมา การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตจะส่งผลให้รูปแบบของสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเกิดความผันผวนแปรปรวนในรอบปีต่อปีมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลโดยตรงต่อสภาพอุทกวิทยาของลุ่มน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไปจากเดิมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและปริมาณน้ำฝนบริเวณต้นน้ำ ย่อมส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงสู่พื้นที่เก็บน้ำ อาจส่งผลให้การปฏิบัติการชลประทานไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่เคยดำเนินการ  ขณะเดียวกันความต้องการน้ำเพื่อกิจกรรมด้านการเกษตร มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำเพื่อชลประทานที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ต่อความมั่นคงของภาคการเกษตรไทย และประเด็นที่ต้องคำนึงถึงก็คือเราจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร เพื่อนำภาคการเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคงและสมดุลในอนาคตระยะยาวภายใต้เงื่อนไขที่สภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันนี้ได้ และเป้าหมายของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของภาคการเกษตรไทยควรจะเป็นอย่างไร

การเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนทางภาคการเกษตร ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เชิงบูรณาการหลายสาขา รวมทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่ที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และทันสมัย โดยผ่านการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ การวางแผน ทั้งเชิงนโยบายและปฏิบัติการ ดังนั้น การนำข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีการตรวจวัดอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อมูลดาวเทียมจากแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาศึกษาวิจัยด้านภูมิอากาศวิทยา เพื่อวิเคราะห์ติดตามการเปลี่ยนแปลง ทั้งบริเวณผิวพื้นและในชั้นบรรยากาศ จะช่วยให้เข้าใจและเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในด้านต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และเกษตรกร สามารถนำไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของแต่ละภาคส่วนเพื่อเตรียมพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

Admin 1/2/2561 0
Share :