Head GISDTDA

หน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างจากโครงการอื่นของ Project Manager

วันนี้แอดมินได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องลิขิต วรานนท์ Project Manager ของ THEOS-2 SmallSAT  เกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของเขา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องดูแลและควบคุมทีมวิศวกรและระบบของงานทั้งหมด

“จริงๆ แล้วผู้จัดการโครงการ หรือ Project Manager นั้นมีความจำเป็นที่ต้องมีในทุกๆ โครงการ ไม่จำเป็นแค่โครงการพัฒนาดาวเทียมเพียงอย่างเดียวครับ ซึ่งหลักพื้นฐานในการบริหารจัดการจะคล้ายๆกันครับ เช่น การยึดหลักสามเหลี่ยมแห่งการบริหารโครงการ Cost, Schedule, Scope ซึ่งภายใต้สามเหลี่ยมนั้นคือการรักษาสมดุลในทุกมิติ ตามเงื่อนไข และข้อจำกัดตามแต่ลักษณะของโครงการ ซึ่งรวมถึงการบริหารความเสี่ยง การใช้ Business management tools และที่สำคัญคือการรักษาสมดุลความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ (Stakeholder) เป็นต้น แต่จากการที่ได้มาอบรมร่วมกับผู้จัดการโครงการของบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd. (SSTL) แล้ว ทำให้ได้เห็นความเป็นมืออาชีพ และความแตกต่างจากการบริหารจัดการโครงการอื่นๆ ที่เคยเห็นในประเทศไทยที่ไม่ใช่งานด้านอวกาศ ซึ่งนอกจากเรื่องรายละเอียดกระบวนการพัฒนาดาวเทียม การกระบวนการผลิต ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะการดำเนินการตามมาตรฐาน NASA หรือยุโรปอย่าง ECSS ก็คือการใช้เหตุและผล ร่วมกับความรู้ทางด้านวิศวกรรม และประสบการณ์ด้านดาวเทียม ผสมกับการใช้จินตนาการ ในการตัดสินใจที่จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากการรักษาสมดุลในสามเหลี่ยมแล้ว การมองภาพออกว่าหากตัดสินใจแล้วจะเกิดผลดี หรือผลเสียเมื่อดาวเทียมอยู่บนอวกาศนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยครับ เพราะไม่มีใครเคยเห็นจริงๆว่าเวลาดาวเทียมเสียชำรุดแล้วจะเป็นยังไงเมื่อมันอยู่บนอวกาศ เรามักจะอาศัยข้อมูลทางคณิตศาสตร์มาวิเคราะห์เพื่อบ่งชี้เหตุของอาการเสีย จึงไม่สามารถหาคำตอบได้ 100% แน่นอน”

>>>แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ยังไงครับ?

“การแก้ปัญหาดังกล่าวโดยทั่วไปแล้วผู้จัดการโครงการก็จะใช้วิธีบริหารความเสี่ยงตามหลักการบริหารทั่วไป ผสมกับความรู้ทางวิศวกรรม เช่น ทำการทดสอบอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงหลายครั้ง ซื้ออุปกรณ์ที่เคยผ่านการพิสูจน์มาแล้ว หรือแม้กระทั้งการเพิ่มกระบวนการตรวจสอบ (Peer Review) ให้ละเอียดมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าทางใดทางนึงก็จะมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่อีกวิธีนึงที่สังเกตว่า SSTL มี และเป็นหัวใจสำคัญนั้นก็คือ Team Work ครับ ทุกคนในทีม SSTL จะถูกปลูกฝังทางวัฒนธรรมของทีม คือการมีความตระหนักรู้ในหน้าที่ (Consciousness) และความมุ่งมั่นที่จะให้โครงการสำเร็จ (Commit to success) เหมือนๆกัน โดยวัฒนธรรมที่ทำให้ทีมเป็นอย่างนี้ได้ในเชิงปฏิบัติแล้ว ซึ่งผมเรียนรู้ว่าเกิดจากการที่ทีมจะไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เพื่อนร่วมทีมไม่ชอบ เช่น ไม่มีการตำหนิกัน ไม่มีการอิจฉาริษยากัน มีความเห็นแก่ตัวน้อยมาก รู้ว่าต้องทำอะไร ส่งงานเมื่อไหร่ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นต้น”
จากเป้าหมายที่ชัดเจนของทีม THEOS-2 SmallSAT ของเราที่ชัดเจนว่า เราอยากนำความรู้กลับไปพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยให้ได้ ที่ไม่ใช่แค่ความรู้ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว เราจึงได้เรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ภายในทีมของเราด้วย ถึงแม้จะมีข้อจำกัดที่ท้าทายเราอยู่ค่อนข้างมาก เพราะเรามาจากความหลากหลายทางอายุ ตั้งแต่ 23 – 40 ปีขึ้น จากหน่วยงานที่ต่างกัน ไม่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อน เจอกันครั้งเดียวก่อนเดินทางมาประเทศอังกฤษ แต่พวกเรานั้นเป็นคนไทย ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือเราจะต้องสร้างและพัฒนาดาวเทียมให้สำเร็จ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ ตั้งแต่วันแรกที่เราทุกคนพบกันจนถึงวันนี้ ระยะเวลาที่ผ่านมาหนึ่งปีกว่าก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราทำกันได้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษาสมดุลของ Team Work แต่รวมถึงการเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ทางเทคนิคได้ดีด้วยเช่นกันครับ

>>>เห็นไหมครับว่า ผู้จัดการโครงการนั้น นอกจากการรักษาสมดุล key success และบริหารความเสี่ยงภายใต้เงื่อนไขต่างๆ แล้ว การสร้าง team work ก็เป็นการรักษาสมดุล key success ที่สำคัญเช่นกัน<<<

ขอบคุณ: นายลิขิต วรานนท์ Project Manager โครงการ THEOS-2 SmallSAT

TAG: THEOS-2
Admin 30/7/2563 1269 0
Share :