GISTDA จัดแถลงข่าว “จับตาไฟป่าหมอกควันและภัยแล้ง 64”
เมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์ติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากข้อมูลดาวเทียม
และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ชั้น 6 GISTDA อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
โดยสาระสำคัญ คือ การใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศในการติดตามสถานการณ์ฯ, ความรุนแรงของสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและภัยแล้งของประเทศไทยในปี 2564, ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนและรับมือ
ปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกคนต้องช่วยกัน ลำพังเพียงภาครัฐไม่สามารถจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเบ็ดเสร็จ ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในสังคมจะเป็นกลไลที่สำคัญที่สุดในการรับมือปัญหาไฟป่า
• ดาวเทียมจะทำหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ไฟไหม้ในภาพรวมเมื่อโคจรผ่านประเทศเรา
• ข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับจะทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ในรายละเอียด
• ประชาชนในพื้นที่จะทำหน้าที่คอยดูแลและรายงานตำแหน่งไฟไหม้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดฤดูกาลไฟป่า
ดังนั้น เมื่อทุกภาคส่วนทำงานสอดคล้องกันและให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มประสิทธิภาพบนพื้นฐานของชุดข้อมูลเดียวกันก็จะนำมาซึ่งความเข้าใจที่ตรงกัน แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ความร่วมมือร่วมแรงกัน จะทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์และผ่านพ้นปัญหานี้ไปด้วยกัน
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบรรเทาและแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการติดตามและบรรเทาปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานในลักษณะเชิงรุก โดยวิเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูลให้แก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในส่วนกลาง รวมถึงระดับจังหวัด ตลอดช่วงเดือนมกราคม – เมษายน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงข้อมูลภูมิสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดความร้อน (Hot spot) ซึ่งเป็นพื้นที่กำเนิดของไฟป่า กลุ่มหมอกควันและทิศทางการแพร่กระจาย รวมทั้งการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงของการเกิดไฟป่า และหมอกควัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำข้อมูลไปใช้บรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว GISTDA จึงใช้โอกาสดังกล่าวในการปรับและพัฒนา solution ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการให้กับหน่วยงานระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่เราต้องดำเนินการควบคู่กันไปพร้อมๆ กับการบรรเทา การแก้ไขปัญหา และการฟื้นฟูในทุกพื้นที่ด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน GISTDA ได้ใช้ web map service ที่ชื่อว่า http://fire.gistda.or.th/ ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และ http://pm25.gistda.or.th/ ในการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และ http://drought.gistda.or.th/ ในการติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นต้น โดย web map service เหล่านี้ จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบได้นำไปใช้เพื่อการวางแผน สำรวจ ตรวจสอบ และติดตามในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนี้มีการใช้งานอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและภัยแล้งปี 2564 ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งระดมสรรพกำลัง ทั้งในด้านกำลังคน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ เพื่อบรรเทาไม่ให้สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆมา โดยพิจารณาจากปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญหลายส่วน รวมถึงข้อมูลและสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปี ที่จะต้องถูกนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อดูแนวโน้มและสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป็นมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังการเกิดเหตุได้ในที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร พื้นที่เปิดโล่งหรือพื้นที่ที่มีค่าความชื้นในดินต่ำ เป็นต้น
ปัจจุบัน GISTDA มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การนำส่งข้อมูลจุดความร้อน การวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยง หรือฐานข้อมูลสำคัญต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการร่วมวางแผนและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม. กับหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้ ยังขยายผลความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมการใช้โดรนเพื่อการชี้เป้าพื้นที่เผาไหม้ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและนำไปสู่การฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้ง ประเทศไทยโดย GISTDA ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี ในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOC เรื่อง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษพร้อมติดตั้งเครื่องมือเพื่อติดตามสภาวะคุณภาพอากาศในประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม GEMS และข้อมูลภาคพื้นดินจากอุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษและสภาพอากาศภาคพื้นดิน Pandora และsensor อื่นๆ ในการติดตามและบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศของไทยโดยเฉพาะ PM 2.5 ซึ่งจะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดทางพื้นดินที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ และสงขลาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2564 และเริ่มทดสอบข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์ในการติดตามตรวจวัดมลภาวะทางอากาศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ไทยเคยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่มีปัญหามลพิษทางอากาศจากการจัดอันดับของ Airvisual เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา