GISTDA ติดตามและประเมินข้อมูลค่าความชื้นในดินด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของความชื้นในดิน ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าภัยแล้งมีความรุนแรงมากหรือน้อยอย่างไร และมีพื้นที่ใดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ
GISTDA ได้นำข้อมูลภาพจากดาวเทียมระบบโมดิส (MODIS) มาเปรียบเทียบในเดือนเดียวกัน แต่แตกต่างกัน 2 ช่วงเวลา (ปี พ.ศ.) คือเดือนมีนาคม 2563 และ ปี 2564 จะเห็นว่าช่วงเดือนมีนาคมเป็นช่วงหน้าแล้ง ค่าความชื้นในดินจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด (ปรากฏสีเหลือง ,สีส้ม ,สีแดง) จนทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ พื้นที่ของประเทศไทย
เมื่อดูจากภาพจะเห็นได้ว่าปี พ.ศ. 2564 ค่าความชื้นในดินลดลงน้อยกว่าปี 2563 ดังจะเห็นได้ในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีค่าความเข้มข้นของสีที่เบาบางกว่าปี 2563 ในขณะที่บางจังหวัดของภาคเหนือ อย่างเช่น ลำปาง ตาก ลำพูน กลับมีค่าความชื้นในดินลดลงมากกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากอิทธิพลของลานีญาที่ทำให้เกิดความผิดปกติและแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้ปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่กระจายตัว บางพื้นที่มีปริมาณมาก บางพื้นที่มีปริมาณน้อย ส่งผลต่อการกักเก็บน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ของประเทศไทยโดยรวมน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากอิทธิพลของลานีญ่า
ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ GISTDA ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของภัยแล้ง เพื่อให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลาง และหน่วยงานในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีความพร้อมในการวางแผน รับมือ และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที