สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) โดยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทย หรือ Astrolab ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ ZIRCON ที่พัฒนาโดยนักวิจัยและวิศวกรจาก Astrolab คำนวณความเป็นไปได้ที่ขยะอวกาศ Fengyun 1C DEB ซึ่งมี NORAD (North American Aerospace Defense) Catalog Numbe: 29934 จะมีโอกาสชนกับดาวเทียมไทยโชต (NORAD:33396) ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 14:13 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีระยะใกล้ที่สุด 25 เมตร และจากการวิเคราะห์ทิศทางและระยะของวงโคจร รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ พบว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการชนกันของดาวเทียมไทยโชตและขยะอวกาศชิ้นนี้
ทั้งนี้ GISTDA จะได้ทำการปรับวงโคจรของไทยโชต โดยระดับความสูงของวงโคจรให้สูงขึ้น 50 เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย และไม่เสี่ยงต่อการชนกับวัตถุอวกาศ อย่างแน่นอน
สำหรับระบบ ZIRCON เป็นระบบการจัดการจราจรอวกาศ ที่ทำหน้าที่ในการแจ้งเตือนการชนระหว่างดาวเทียมไทยโชตกับวัตถุอวกาศ (ดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจ หรือขยะอวกาศ) ระบบนี้ได้พัฒนาตั้งแต่ ปี 2562 ซึ่งเดิม GISTDA ใช้บริการแจ้งเตือนจาก Combined Space Operations Center (CSpOC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการแจ้งล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งค่อนข้างกระชั้น และยังต้องมีการขอตำแหน่งดาวเทียมไทยโชต เพื่อ CSpOC ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่ามีความเสี่ยงจริง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการตัดสินใจและวางแผนการหลบเลี่ยงได้ล่าช้า หรือไม่ทัน ส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดการชนกับดาวเทียมไทยโชต ด้วยระบบ ZIRCON ที่พัฒนาขึ้นมาเอง ทีมวิจัยเซ็ตระบบให้แจ้งเตือนวัตถุที่มีความเสี่ยงล่วงหน้าได้ 7 วัน ทำให้สามารถทราบล่วงหน้า และไม่จำเป็นต้องตรวจสอบอีกครั้งเนื่องจาก GISTDA ใช้ตำแหน่งดาวเทียมไทยโชต ส่งผลให้ทำปฏิบัติหลบดาวเทียมได้มีประสิทธิภาพทั้งเปลี่ยนวงโคจรเพื่อหลบวัตถุอวกาศและเวลาในการปฏิบัติการหลบวัตถุอวกาศที่ลดลงอย่างมาก
GISTDA จึงได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศนี้ขี้นมา และเริ่มใช้กับภารกิจดาวเทียมไทยโชตเต็มรูปแบบช่วงเดือนธ.ค.2563 โดยภารกิจถัดจากนี้ คือการให้บริการการจัดการจราจรอวกาศให้กับดาวเทียมอื่นๆที่เป็นสัญชาติไทยและในระดับนานาชาติต่อไป