Head GISDTDA

การทำแผนที่

1. สัญลักษณ์แผนที่

การทำแผนที่เป็นการรวบรวมข้อมูลภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่บนพื้นผิวโลก มาแสดงโดยสร้างเป็นสัญลักษณ์ในแผนที่ จึงต้องจำแนกลักษณะข้อมูลภูมิศาสตร์ที่นำมาทำแผนที่โดยแบ่งเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) และข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) แล้วเลือกใช้สัญลักษณ์ให้เหมาะสมกับข้อมูล

ข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่ใช้ในการทำแผนที่ หมายถึง ข้อมูลที่ระบุลักษณะซึ่งจัดจำแนกเป็นกลุ่มได้ อยู่ในระดับการวัดนามมาตรา (Nominal) ตัวอย่างเช่น แผนที่การใช้ที่ดิน แสดงการจำแนกประเภทการใช้ที่ดินเป็นชนิดต่างๆตามมาตรฐานการจำแนกที่ดิน ข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการจำแนกประเภท ซึ่งอาจมีเกณฑ์การจำแนกแตกต่างกัน ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และเหมาะสมกับมาตราส่วนของแผนที่

ข้อมูลเชิงปริมาณที่ใช้ในการทำแผนที่ หมายถึง ข้อมูลที่มีคุณสมบัติเชิงปริมาณ และเชิงเรียงลำดับ (Ordinal) เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน จำนวนประชากร ความหนาแน่นของประชากรต่อหน่วยพื้นที่ เป็นต้น

เมื่อคัดเลือกข้อมูลภูมิศาสตร์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของแผนที่แล้ว ทำการวิเคราะห์เพื่อจำแนกข้อมูลเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ จากนั้นเป็นขั้นตอนการคัดเลือกเอาสัญลักษณ์ที่เหมาะสมมาใช้เพื่อแทนข้อมูลภูมิศาสตร์ให้เป็นสัญลักษณ์บนแผนที่

สัญลักษณ์แผนที่จำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ สัญลักษณ์จุด (Point symbol) สัญลักษณ์เส้น(Line symbol) และสัญลักษณ์พื้นที่ (Area symbol) ตัวอย่างของสัญลักษณ์จุด เส้น และพื้นที่ ของแผนที่เฉพาะเรื่องเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ แสดงในภาพ

ภาพตัวอย่างการเลือกใช้สัญลักษณ์แผนที่เฉพาะเรื่องเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

ภาพตัวอย่างการเลือกใช้สัญลักษณ์แผนที่เฉพาะเรื่องเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

 

2. การออกแบบแผนที่

การออกแบบแผนที่ เริ่มจากการกำหนดขนาดแผนที่แล้ววางองค์ประกอบของแผนที่คล้ายกับการวางแบบจัดหน้าของนักหนังสือพิมพ์ จึงมักเรียกว่า การวางแบบแผนที่ (Map layout) ขั้นตอนของการออกแบบแผนที่มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

กำหนดสื่อที่จะใช้นำเสนอ เช่น แผนที่บนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ วิธีการผลิตมีผลกับวิธีการออกแบบแผนที่
เลือกมาตราส่วน และชนิดของเส้นโครงแผนที่ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์แผนที่
วิเคราะห์เนื้อหาแผนที่ และการให้สัญลักษณ์
กำหนดการวางแบบและองค์ประกอบแผนที่ ตามหลักการและวิธีการออกแบบแผนที่
โดยหลักการการวางองค์ประกอบแผนที่ต้องพิจารณาองค์ประกอบของแผนที่ว่าเหมาะสมกับแผนที่ชนิดนั้นแล้วหรือไม่ ในบางกรณีอาจยกเว้นไม่จำเป็นต้องแสดงให้ครบถ้วน การวางองค์ประกอบแผนที่มีรายละเอียด ดังนี้

– เนื้อหาของแผนที่ (Map content) ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะคือข้อมูลหลักของแผนที่จัดอยู่ในความสำคัญอันดับแรก เนื้อหาแผนที่มักวางไว้ตรงกลางจุดศูนย์กลางเชิงทัศน์ (Visual center) ของระวางแผนที่หรือขอบเขตกระดาษทำแผนที่ เนื้อหาแผนที่ต้องโดดเด่นมากที่สุดและครอบคลุมพื้นที่แผนที่มากที่สุด

– ขอบระวางแผนที่ (Neat line) มักเป็นเส้นบาง และอาจมีเส้นขอบนอกล้อมรอบซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นหนากว่าขอบระวาง เรียกว่า เส้นขอบระวาง (Border line) ข้อมูลตัวเลขค่าพิกัดแผนที่บอกเนื้อหาแผนที่ โดยวางอยู่ระหว่างขอบระวางและเส้นขอบระวาง เส้นขอบเขตเนื้อหาแผนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรขาคณิต อาจเป็นขอบเขตพื้นที่ศึกษาวิจัย เช่น เส้นแบ่งเขตลุ่มน้ำ อย่างไรก็ตามลักษณะขอบเขตชนิดนี้ทำให้พื้นที่แผนที่ดูคล้ายเกาะเรียกว่าเกิดลักษณะแผนที่เกาะ (Island map) หากต้องการหลีกเลี่ยง สามารถให้แสดงข้อมูลพื้นที่ข้างเคียงประกอบด้วยเป็นข้อมูลพื้นหลัง (Background)

– ชื่อแผนที่ (Title) มีความสำคัญอยู่ในลำดับ 2 รองจากเนื้อหาแผนที่ การตั้งชื่อแผนที่ควรกระชับและได้ความหมายตามเนื้อหาของแผนที่ ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย เช่น เปลี่ยนจากชื่อเรื่อง “แผนที่แสดงความหนาแน่นประชากร”เป็น “ความหนาแน่นประชากร” ถ้าเนื้อหาแผนที่แสดงวันเวลาเฉพาะ ให้ระบุไว้ในชื่อแผนที่ด้วย หากชื่อแผนที่ยาวมากอาจแบ่งชื่อแผนที่ เป็นชื่อหลัก และชื่อรอง เช่น ชื่อหลักของแผนที่คือ “โครงสร้างอายุของผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2548” ชื่อรองคือ “ชายแดนไทย-เมียนมาร์” การแสดงชื่อรองให้แยกเป็นอีกบรรทัดและจัดวางไว้กึ่งกลางของชื่อหลัก

– คำอธิบายสัญลักษณ์ (Legend) มีความสำคัญอยู่ในลำดับ 3 ต่อจากเนื้อหาแผนที่ และชื่อแผนที่คำอธิบายสัญลักษณ์ประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์ และคำอธิบายความหมายของสัญลักษณ์ สัญลักษณ์ที่อยู่ในเนื้อหาแผนที่ต้องปรากฏคำอธิบายสัญลักษณ์ด้วยเสมอ และมีรูปร่างลักษณะเหมือนกันทุกประการ การออกแบบหัวเรื่องของคำอธิบายสัญลักษณ์ของแผนที่เฉพาะเรื่อง อาจละเว้นการเขียนคำว่า “คำอธิบายสัญลักษณ์” หรือคำว่า “สัญลักษณ์” ไว้ก็ได้ หรือหากมีหัวเรื่องที่ต้องการขยายความมาจากชื่อแผนที่ ให้นำมาเป็นชื่อหัวเรื่องแทนที่คำว่า “คำอธิบายสัญลักษณ์” เช่น ชื่อแผนที่คือโครงสร้างอายุของผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2548 ชื่อหัวเรื่องของคำอธิบายสัญลักษณ์คือ จำนวนผู้ลี้ภัย พื้นที่ในส่วนของคำอธิบายสัญลักษณ์ทั้งหมดอาจมีเส้นขอบล้อมรอบคำอธิบายสัญลักษณ์ หรือไม่มีก็ได้

– แหล่งที่มาของข้อมูล (Data source) ผู้จัดทำแผนที่ และวันที่ทำแผนที่ ควรแสดงไว้เพราะทำให้สามารถอ้างอิงที่มาของข้อมูลได้ วางไว้ที่ขอบระวางแผนที่ และตัวอักษรมีขนาดเล็ก เพราะมีความสำคัญอันดับรอง

– มาตราส่วนแผนที่ทำได้โดยระบุเป็นตัวเลข และกราฟิกของมาตราส่วนเส้นบรรทัด แต่ควรใช้มาตราส่วนกราฟิกประกอบด้วยเสมอ เพราะอาจมีการทำสำเนาย่อหรือขยายแผนที่นั้น มาตราส่วนของแผนที่โลกที่แปรเปลี่ยนตามละติจูด ให้ใช้มาตราส่วนชนิดแปรตาม (Variable scale) แต่ซอฟต์แวร์บางชนิดไม่มีลักษณะมาตราส่วนนี้ ก็ควรละเว้นการแสดงมาตราส่วนไว้ มาตราส่วนมีความสำคัญอยู่ในลำดับหลัง จึงไม่ควรวางไว้โดดเด่นมากนักแต่ก็ไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไปเพราะจะใช้ประโยชน์ยาก การวางมาตราส่วนควรทำให้เกิดความสมดุลของแผนที่เสมอ

– เครื่องหมายทิศ ถ้าแผนที่นั้นไม่มีเครื่องหมายทิศกำกับ แสดงว่านักแผนที่กำหนดให้แผนที่นั้นวางตัวชี้ไปทางทิศเหนือ แต่ถ้าขนาดของเนื้อหาแผนที่ไม่เหมาะสมกับการวางตัวในทิศเหนือก็เปลี่ยนไปทิศอื่นๆ ได้ แต่ต้องมีเครื่องหมายทิศเหนือกำกับด้วยเสมอ เส้นเมริเดียนคือเส้นที่วางในแนวทิศเหนือหากเส้นนี้วางตัวในทิศทางต่างกันต้องทำเครื่องหมายทิศเหนือ เครื่องหมายทิศมีความสำคัญลำดับรอง การออกแบบเครื่องหมายทิศจึงไม่ควรโดดเด่นมากลวดลายมากเกิน หรือมีขนาดใหญ่เกินไป

3.การแสดงข้อมูลประกอบแผนที่

ชื่อทางภูมิศาสตร์ (Geographic name) ที่ปรากฏในเนื้อหาแผนที่บางชนิด เช่น แผนที่ภูมิประเทศมีรายละเอียดของชื่อมากมาย การวางชื่อทางภูมิศาสตร์เพื่อกำกับสัญลักษณ์จุด เส้น และพื้นที่ ในแผนที่ให้เหมาะสมมีลำดับขั้นตอนที่ควรพิจารณาดังนี้

3.1 ลำดับแรกให้วางชื่อที่อยู่ในตำแหน่งที่คงที่ หรือตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงยาก เช่น จุดความสูง (Spot height)
3.2 ลำดับที่ 2 วางชื่อที่กำกับสัญลักษณ์จุด เช่น ชื่อเมือง ซึ่งหากมีสิ่งกีดขวางอาจพอจะเคลื่อนย้ายได้บ้างในตำแหน่งรอบๆ จุดนั้น ซึ่งมีตำแหน่งให้วางได้ 9 ตำแหน่ง (ตำแหน่งที่ 5 เป็นตำแหน่งของสัญลักษณ์จุด)เช่น หากวางชื่อไว้ที่ตำแหน่งที่ 3 ก็ควรรักษาตำแหน่งนี้ไว้ให้คงที่ ยกเว้นมีข้อจำกัดทางภูมิประเทศมาเป็นอุปสรรคจะต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมทางน้ำ ชื่อหมู่บ้านนั้นควรอยู่ฝั่งเดียวกับตำแหน่งหมู่บ้าน เป็นต้น(ตำแหน่งที่ 5 วางทับจุด จึงไม่เหมาะสมในกรณีวางชื่อของสัญลักษณ์จุด)
3.3 ชื่อของข้อมูลชนิดเส้น เช่น ถนน แม่น้ำ เส้นโครงภูมิศาสตร์ ให้วางขนานไปกับแนวเส้นนั้นและหากเส้นมีความกว้างมากพอให้เขียนชื่อลงไปในระหว่างเส้นนั้น
3.4 ชื่อของข้อมูลพื้นที่ ให้วางตามรูปร่างของพื้นที่ และวางตรงกึ่งกลางพื้นที่

เมื่อวางชื่อเรียบร้อยแล้ว ให้ตรวจสอบความเหมาะสมโดยรวมของแผนที่ ให้ชื่อต่างๆ อยู่ในบริเวณพื้นที่ว่าง ไม่ควรกระจุกอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสมดุล หลีกเลี่ยงวางชื่อต่างๆ เหลื่อมซ้อนกันและควรหลีกเลี่ยงการวางชื่อในบริเวณที่ซ้อนทับกับข้อมูลสำคัญ ตัวอักษรมีขนาดเหมาะสม และไม่ควรให้สีของพื้นข้างหลังคล้ายคลึงกับสีของชื่อ หากจำเป็นต้องวางชื่อซ้อนทับกับรูปสัญลักษณ์ควรใช้ลักษณะสีพื้นรอบตัวอักษร (Halo)เพื่ออ่านชื่อได้ชัดเจน และที่สำคัญคือชื่อที่ใช้จะต้องชัดเจนสะกดถูกต้องตามหลักภาษา และสื่อความหมายถูกต้อง

4. ความสำคัญของการออกแบบแผนที่

การทำแผนที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ แม้ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ช่วยให้การออกแบบและทำแผนที่ง่ายดายและรวดเร็วขึ้นมาก แต่ไม่ควรละเลยความสำคัญของการออกแบบแผนที่แผนที่คือสื่อนำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่ จึงเป็นเอกสารที่มีความสำคัญทางวิชาการ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำวิจัยแสดงผลการวิจัยและใช้สื่อสารข้อมูลภูมิศาสตร์ ไม่ควรมองว่าแผนที่เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น การทำแผนที่ควรใช้เวลาพิจารณาเพื่อวางแผนงานระยะหนึ่ง ขั้นตอนนี้อาจจะยังไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำแผนที่ทันที เนื่องจากแผนที่แสดงข้อมูลเป็นภาพที่แปลตีความแล้ว จึงควรออกแบบให้ผู้ใช้สามารถทำความเข้าใจแผนที่ได้รวดเร็วโดยเฉพาะแผนที่เฉพาะเรื่องเชิงปริมาณ แต่แผนที่บางชนิด เช่น แผนที่ธรณีวิทยามีข้อมูลบรรจุอยู่มาก ต้องใช้เวลาอ่านแผนที่อย่างพินิจพิเคราะห์เพื่อแปลความหมายของสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนแผนที่ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจลักษณะของพื้นที่ตรงตามวัตถุประสงค์แท้จริงของแผนที่ หากแผนที่นั้นสื่อสารข้อมูลคลุมเครือหรือผิดพลาดจะส่งผลให้ผู้ใช้แผนที่ตีความหมายผิดเช่นกัน การออกแบบแผนที่ที่ดีควรออกแบบให้มีความชัดเจน (Clarity) ในขั้นแรก คือ การสร้างความชัดเจนของแนวคิดมีความเข้าใจปรากฏการณ์เชิงพื้นที่อย่างชัดเจน แล้วคัดเลือกข้อมูลที่สำคัญที่เป็นตัวแทนของลักษณะพื้นที่ ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเนื้อหาแผนที่ให้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์แผนที่ ความชัดเจนในขั้นต่อมาคือการสร้างสัญลักษณ์แผนที่ให้ชัดเจน เมื่อแทนสภาพจริงด้วยสัญลักษณ์แผนที่ จะต้องเลือกใช้สัญลักษณ์ที่เหมาะสม วางตำแหน่งสัญลักษณ์และตัวอักษรไม่ซ้อนทับกัน ทำให้มองเห็นง่าย และอ่านตัวอักษรได้ง่าย ไม่แสดงข้อมูลมากเกินความจำเป็น เพื่อให้สังเกตและดึงข้อมูลสำคัญได้อย่างรวดเร็ว และสามารถจดจำลักษณะของข้อมูลบนแผนที่ได้ง่าย การออกแบบแผนที่ประกอบด้วยหลักการออกแบบ คือ ภาพ-พื้น (Figure-Ground) ความสมดุลเชิงทัศน์ (Visual balance) ความเปรียบต่าง(Contrast) และลำดับเชิงทัศน์ (Visual hierarchy)

1.  ภาพ-พื้น หมายถึง การเน้นภาพหลักซึ่งออกแบบมาเป็นจุดสนใจหลัก ให้แตกต่างออกจากพื้นหลังซึ่งเป็นฉากประกอบ ภาพหลักต้องดูสำคัญกว่าและโดดเด่นออกจากพื้นหลัง โดยการใช้ความแตกต่างของสีความสว่าง หรือความเข้ม ลวดลาย ความหมายของภาพในแผนที่ คือ ตัวเนื้อหาหลักแผนที่ ส่วนพื้น คือ เนื้อหาประกอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาหลัก โดยไม่รบกวนเนื้อหาหลัก

2.  ความสมดุลเชิงทัศน์ หมายถึง เมื่อการวางองค์ประกอบแผนที่ทั้งหมด แล้วน้ำหนักของภาพรวมทั้งแผนที่ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่งของพื้นที่แผนที่ แต่กระจายทั่วทั้งพื้นที่แผนที่ โดยรักษาระยะพื้นที่ว่างให้สม่ำเสมอกัน การวางองค์ประกอบแผนที่ให้สมดุลมีรูปแบบของความสมดุลสองประเภทคือ ความสมดุลเป็นทางการ(Formal balance) และความสมดุลไม่เป็นทางการ (Non-formal balance) ความสมดุลเป็นทางการ หมายถึง การวางองค์ประกอบแผนที่ให้อยู่กึ่งกลางแผนที่ และวางให้สมมาตรกัน เช่น วางชื่อแผนที่ และเนื้อหาแผนที่ให้อยู่ตรงกลาง ส่วนข้อมูลองค์ประกอบลำดับต่ำกว่าวางไว้ชิดซ้าย และชิดขวา ให้สมมาตรกัน ความสมดุลเป็นทางการ มักใช้กับการออกแบบแผนที่ชุด เช่น แผนที่ภูมิประเทศ เนื่องจากพื้นที่ของเนื้อหาแผนที่ถูกออกแบบให้มีขนาดเท่ากัน เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกัน ส่วนความสมดุลไม่เป็นทางการ หมายถึง การวางองค์ประกอบแผนที่ให้อยู่กระจายตามบริเวณที่ว่างที่มีอยู่ แต่เมื่อวางทุกองค์ประกอบแล้ว แผนที่นั้นยังมีความสมดุล ความสมดุลไม่เป็นทางการมักใช้กับแผนที่ที่มีพื้นที่เนื้อหาแผนที่ไม่ใช่รูปทรงเรขาคณิต เช่น พื้นที่จังหวัด พื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นต้น และเป็นแผนที่มาตราส่วนขนาดเล็ก

3.  ความเปรียบต่าง หมายถึง การตัดกันของรูปลักษณ์แผนที่หนึ่งกับรูปลักษณ์อื่น ทำให้เห็นความแตกต่างของแต่ละรูปลักษณ์ ซึ่งทำโดยการออกแบบลักษณะของสัญลักษณ์ หรือตัวแปรเชิงทัศน์ เช่น สี ลวดลายรูปร่าง และเงา ให้สามารถแยกแยะความแตกต่างจากแต่ละรูปลักษณ์ได้ โดยยึดตามการวิเคราะห์ข้อมูลตามจุดประสงค์หลักแผนที่ การออกแบบให้รูปลักษณ์ที่สำคัญโดดเด่น จะทำให้มีลำดับเชิงทัศน์ หรือเป็นจุดความสนใจอยู่ในลำดับแรกๆ

 

4. ลำดับเชิงทัศน์ เป็นการวางสัญลักษณ์ และองค์ประกอบแผนที่ให้เป็นไปตามความสำคัญในบริเวณที่มองเห็นเด่นชัดที่สุดเป็นลำดับไป ข้อมูลแผนที่จึงควรวางตามลำดับความสำคัญซึ่งมี 2 องค์ประกอบ คือ ลำดับขององค์ประกอบแผนที่ และลำดับของเนื้อหาแผนที่

 - ลำดับขององค์ประกอบแผนที่ โดยปกติแล้วความสนใจของสายตาที่มองพื้นที่หนึ่ง มีลำดับความสนใจพื้นที่ในส่วนที่มองได้ชัดเจนที่สุด จุดดึงดูดสายตาที่สุด คือ จุดศูนย์กลางของการมองเห็นข้อมูลทันที เรียกว่าจุดศูนย์กลางเชิงทัศน์อยู่บริเวณเกือบกึ่งกลางพื้นที่แผนที่ (ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของความสูง และอยู่เหนือจุดศูนย์กลางเรขาคณิต) ลำดับเชิงทัศน์จึงเป็นการวางสัญลักษณ์และองค์ประกอบแผนที่ให้เป็นลำดับตามความสำคัญในบริเวณที่มองเห็นเด่นชัดที่สุดเป็นลำดับไป วิธีการกวาดสายตามีก็ลำดับเช่นกัน สำหรับวัฒนธรรมที่ฝึกการอ่านจากซ้ายไปขวา ผู้ใช้จะกวาดสายตาจากด้านบนชิดซ้าย เฉียงมาที่จุดศูนย์กลางเชิงทัศน์ซึ่งเป็นจุดรวมความสนใจ ที่วางบนพื้นที่ความสนใจโดยรอบ แล้วกวาดตาลงไปมุมขวาล่าง
เนื่องจากองค์ประกอบของแผนที่มีลำดับความสำคัญมากน้อยต่างกัน สรุปลำดับความสำคัญได้ตามตาราง การวางองค์ประกอบแผนที่พิจารณาให้องค์ประกอบที่มีลำดับความสำคัญสูงมีสัดส่วนพื้นที่มากที่สุด แล้วลดหลั่นขนาดพื้นที่กันไปตามลำดับ และองค์ประกอบของแผนที่ที่มีลำดับความสำคัญสูงต้องอยู่บริเวณที่น่าสนใจที่สุดด้วย


ที่มา : Dent (1999)

ตารางลำดับความสำคัญขององค์ประกอบแผนที่

 

– การจัดลำดับของเนื้อหาแผนที่ (Hierarchical organization) ส่วนของเนื้อหาแผนที่ ก็มีระดับความสำคัญแตกต่างกัน โดยเฉพาะแผนที่เฉพาะเรื่องมีเนื้อหาหลัก หรือหัวเรื่องหลักที่นำมาแสดงบนแผนที่ซึ่งอาจเน้นเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ชนิดดิน การใช้ที่ดิน หรือข้อมูลภูมิศาสตร์ที่นำมาแสดงเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น จำนวนประชากร และเนื้อหารอง ประกอบเป็นพื้นหลัง ซึ่งคือข้อมูลอื่นๆ ที่ประกอบเป็นฉากหลัง อาจเป็นแผนที่ลายเส้นหรือเป็นข้อมูลจากดาวเทียม และรูปถ่ายทางอากาศก็ได้ แต่ต้องออกแบบให้ภาพประกอบพื้นหลังไม่รบกวนประเด็นที่นำมาแสดง เช่น การลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไป การใช้สีอ่อนกว่าประเด็นหลัก การจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาแผนที่มี 3 ลักษณะ คือ ลักษณะภาพ 3 มิติ ลักษณะลำดับขั้น และลักษณะการจำแนกย่อย

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Admin 16/7/2558 0
Share :