Head GISDTDA

"แผนที่กับในหลวงรัชกาลที่ 9"

     ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชครองราชย์ เราจะสังเกตุเห็นได้ว่าเวลาที่พระองค์ท่านจะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่แห่งใดก็ตาม สิ่งที่เราคุ้นตากันเป็นอย่างดีคือแผนที่ พระองค์ท่านทรงเป็นนักสำรวจและผู้เชี่ยวชาญการใช้แผนที่เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าแผนที่ทำให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างครอบคลุมในภาพเพียงภาพเดียว ซึ่งสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและตรงจุด ทำให้รู้ว่าพื้นที่ใดควรจะได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใด ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้างเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ขาด

     ทราบหรือไม่ว่า แผนที่ของพระองค์นั้น พระองค์ทรงจัดเตรียมและตัดต่อแผนที่ดังกล่าวด้วยพระองค์เอง และทรงศึกษาภูมิประเทศจากแผนที่ดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อประกอบการวางแผนโครงการตามพระราชดำริด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ การชลประทาน การพัฒนาการเกษตร การพัฒนาผืนป่า และการป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน นั่นเอง

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงสนพระราชหฤทัยและใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรอีกด้วย พระองค์ทรงเคยมีพระกระแสรับสั่งให้จิสด้าจัดเตรียมภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ดำเนินการเหนืออ่างเก็บน้ำยางชุม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ ครอบคลุมลุ่มน้ำกุยบุรี ซึ่ง จิสด้า ได้สนองพระราชดำริ โดยสั่งถ่ายภาพรายละเอียดสูง IKONOS และได้น้อมเกล้าฯถวายในเวลาต่อมา

     คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานานับประการนั้น แผนที่ที่พระองค์ท่านทรงใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินในแหล่งต้นน้ำลำธารบนภูเขาสูง การจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร เป็นต้น แผนที่นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญเป็นอย่างมาก และถือเป็นต้นแบบที่สำคัญที่จิสด้าได้น้อมนำแนวปฏิบัติของพระองค์ท่านมากำหนดเป็นภารกิจหลักขององค์กรในด้านการนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์และจัดทำเป็นแผนที่พร้อมใช้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่แก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

     และหากย้อนไปเมื่อ 8 ปี ประเทศไทย ได้ส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของชาติขึ้นสู่วงโคจรในนามดาวเทียมธีออส แต่จากนั้นไม่นานเมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามดาวเทียมให้ใหม่ว่า “ดาวเทียมไทยโชต” ซึ่งมีความหมายว่า ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่จิสด้าได้ขอพระราชทานนามดาวเทียมนั้น จิสด้าได้กำหนดชื่อดาวเทียมเพื่อให้ท่านทรงมีพระวินิจฉัยจำนวน 3 ชื่อ แต่พระองค์ท่านทรงพระราชทานชื่อใหม่ให้ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับ 3 ชื่อดังกล่าวเลย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ และดาวเทียมไทยโชตดวงนี้ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจตามแนวปฏิบัติของพระองค์ท่านอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติของเราสืบไป

 

Admin 4/12/2561 2883 0
Share :