Head GISDTDA

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก(Earth observation satellites)

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกที่สำคัญซึ่งใช้งานในอดีตจนถึงปัจจุบันที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

1. ดาวเทียม LANDSAT

ดาวเทียม LANDSAT 1 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลกขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยองค์การ NASA ต่อมาได้โอนกิจการให้บริษัทเอกชน EOSAT เพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันปฏิบัติการเฉพาะดาวเทียม LANDSAT 5 ซึ่งมีเครื่องรับรู้ 2 ระบบ คือ ระบบเครื่องกราดภาพหลายสเปกตรัม (Multispectral Scanner : MSS) มี 4 ช่วงคลื่น ครอบคลุมพื้นที่ 185×185 ตารางกิโลเมตร ความละเอียดภาพ 80 เมตร และระบบธีแมติกแมพเพอร์ (Thematic mapper : TM) บันทึกข้อมูลใน 7 ช่วงคลื่น ความละเอียดภาพ 30 เมตร (ยกเว้นแบนด์ 6 ความละเอียดภาพ 120 เมตร) และเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2542 ดาวเทียม LANDSAT 7 ได้ถูกส่งขึ้นปฏิบัติงานโดยมีเครื่องรับรู้ระบบ ธีแมติกแมพเพอร์เพิ่มสมรรถนะ (Enhanced Thematic Mapper Plus : ETM+) ที่พัฒนาจากระบบ TM โดยแบนด์ 6 ซึ่งเป็นช่วงคลื่นอินฟราเรดความร้อน มีความละเอียดภาพ 60 เมตร และระบบแพนโครมาติก ความละเอียดภาพ 15 เมตร

ตารางดาวเทียม LANDSAT และเครื่องรับรู้

2. ดาวเทียม SPOT (Satellites Pour l’Observation de la Terre)

ดาวเทียม SPOT ของศูนย์ศึกษาอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส ร่วมกับประเทศในกลุ่มยุโรป เครื่องรับรู้ของดาวเทียม SPOT ประกอบด้วยกล้องHigh Resolution Visible (HRV) จำนวน 2 ชุด คือระบบหลายสเปกตรัมมี 3

ช่วงคลื่น ที่ความละเอียดภาพ 20 เมตร และระบบแพนโครมาติกที่ความละเอียดภาพ 10 เมตร สมรรถนะของกล้อง HRV ที่สำคัญประการหนึ่งคือสามารถถ่ายภาพแนวเฉียงและนำมาศึกษาในลักษณะ 3 มิติได้ โดยให้รายละเอียดที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนดาวเทียม SPOT 3 และ 4 ใช้เครื่องรับรู้แบบอุปกรณ์ถ่ายเทประจุ (Charge Coupled Device : CCD) และเพิ่มอีก 1 ในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีความละเอียดภาพ 20 เมตร จำนวน 4 ช่วงคลื่น คล้ายคลึง กับระบบ MSS ของดาวเทียม LANDSAT โดยช่วงคลื่นแพนโครมาติกในดาวเทียม SPOT 1 และ 2 ถูกแทนที่ด้วยช่วงคลื่น 0.61-0.68 ไมโครเมตร ที่ความละเอียดภาพ 10 เมตร ดาวเทียม SPOT 3 และ 4 มีเครื่องรับรู้ สำหรับศึกษาพืชพรรณ (Vegetation instrument :VGT ) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชพรรณที่ความละเอียดภาพ 1.15-1.70 กิโลเมตร ในทุกช่วงคลื่นเช่นเดียวกับกล้อง HRV ดาวเทียม SPOT 5 มีเครื่องรับรู้เหมือนดาวเทียม SPOT 4 คือ ช่วงคลื่นที่ 1 (0.50-0.59 ไมโครเมตร) ช่วงคลื่นที่ 2 (0.61-0.68 ไมโครเมตร) ช่วงคลื่นที่ 3 (0.79-0.89 ไมโครเมตร) และช่วงคลื่นที่ 4 คือ ช่วงคลื่นอินฟราเรดกลาง (1.58-1.75 ไมโครเมตร) ช่วงคลื่นแพนโครมาติก มีช่วงคลื่นเช่นเดียวกับ SPOT 1-3 (0.51-0.73 ไมโครเมตร) เครื่องรับรู้เรียกว่า HRG (High Resolution Geomatic) ประกอบด้วย ช่วงคลื่นแพนโครมาติก และระบบหลายสเปกตรัม นอกจากนี้ ยังมีแบบซูเปอร์โหมด (Supermode) มีความละเอียดภาพสูงถึง 2.5 เมตร และยังมีเครื่องรับรู้แบบสเตอริโอสโคปิกความละเอียดสูง (High-Resolution Stereoscopic : HRS) สามารถใช้ผลิตแบบจำลองระดับความสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM) ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่กว้างและมีความละเอียดภาพ 15 เมตร

3. ดาวเทียม MOS (Marine Observation Satellite)

ภาพ ดาวเทียม MOS 1

องค์การพัฒนาอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น (National Space Development Agency : NASDA) ได้ส่งดาวเทียม MOS 1 ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 มีเครื่องรับรู้ 3 ระบบคือ 1) ระบบ Multispectral

Electronic Self Scanning Radiometer (MESSR) มี 4 ช่วงคลื่น ให้ความละเอียดภาพ 50 เมตร 2) ระบบ Visible and Thermal Infrared Radiometer (VTIR) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิต่างๆ ในทะเลเป็นประโยชน์ต่อการประมงและข้อมูลการปกคลุมของเมฆและไอน้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์อากาศ 3) ระบบ Microwave Scanning Radiometer (MSR) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณไอน้ำ ปริมาณน้ำ ลมทะเล การแผ่คลุมของหิมะ และน้ำแข็งในทะเล

4. ดาวเทียม ERS (European Remote Sensing Satellite)

พัฒนาโดยองค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency: ESA) ERS 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 มีเครื่องรับรู้ 2 แบบ 1) ระบบแพสซิฟ 2) ระบบแอ็กทิฟ ซึ่งสามารถ

ถ่ายภาพในทุกสภาพอากาศ ทะลุเมฆและหมอก นอกจากนั้นยังสามารถบันทึกข้อมูลในเวลากลางคืน บันทึกข้อมูลในช่วงคลื่นแบนด์ C หรือที่ความถี่ 5.3 GHz มุมตกกระทบ (Incident angle) 20-26 องศา โพลาไรเซชันแนวตั้ง

(VV) ความละเอียดภาพ 30 เมตร ปัจจุบันดาวเทียมชุดนี้ปฏิบัติการอยู่ 2 ดวง คือ ERS 1 และ ERS 2

5. ดาวเทียม ENVISAT (Environmental Satellite)

ภาพดาวเทียม ENVISAT

เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่ใหญ่สุด ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อพ.ศ. 2545 โดย ESA มีเครื่องรับรู้ระบบแพสซิฟ และระบบแอ็กทิฟ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า ERS 1 และ ERS 2 มีน้ำหนัก 8 เมตริกตัน ความสูง 10 เมตร ความกว้าง 5 เมตร และมีแผงรับพลังงานดวงอาทิตย์ วงโคจรที่ระดับความสูง 790 กิโลเมตร คาบการโคจร 101 นาที โคจรกลับมาที่เดิมทุก 35 วัน ดาวเทียมนี้มีประสิทธิภาพในการสำรวจโลก มีเครื่องรับรู้ระบบ ASAR (An Advanced Synthetic Aperture Radar) บันทึกข้อมูลในช่วงคลื่นแบนด์ C ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจากเครื่องรับรู้ระบบ AMI ของดาวเทียม ERS 1 และ ERS 2 มีเครื่องรับรู้ 9 ระบบ ได้แก่ 1) ASAR (Advanced Synthetic Aperture Radar) 2) MERIS (Medium Resolution Imaging Spectrometer) 3) AATSR (Advanced Along Track Scanning Radiometer) 4) RA-2 (Radar Altimeter 2) 5) MWR (Microwave Radiometer) 6) DORIS (Doppler Orbitography and Radiopositioning Integrated by Satellite) 7) GOMOS (Global Ozone Monitoring by Occultation of Stars 8) MIPAS (Michelson Interferometer for Passive Atmospheric Sounding) 9) SCIAMACHY (Scanning Imaging Absorption spectroMeter for Atmospheric Chartography) สามารถบันทึกสภาวะข้อมูลทางทะเล คลอโรฟิลล์ ตะกอนแขวนลอย เคมีในบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมทางทวีป เป็นต้น

6. ดาวเทียม JERS (Japanese Earth Resources Satellite)

องค์การพัฒนาอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่นได้ส่งดาวเทียม JERS-1 ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 โดยมีเครื่องรับรู้ทั้ง 2 ระบบ คือ ระบบแพสซิฟและระบบแอ็กทิฟ ในระบบแอ็กทิฟ บันทึกข้อมูลในช่วงคลื่น

แบนด์ L หรือที่ความถี่ 1.275 GHz มุมตกกระทบ (Incident angle) 35 องศา โพลาไรเซชันแนวนอน (HH) ความละเอียดภาพ 18 เมตร ระบบแพสซิฟมีเครื่องรับรู้ที่เรียกว่า Optical Sensors (OPS) ประกอบด้วย Visible and Near Infared Radiometer (VNIR) และ Short Wavelength Infrared Radiometer (SWIR)

7. ดาวเทียม NOAA (U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration)

เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ใช้ติดตามกลุ่มเมฆ ประมาณพื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะและวัดอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ภายหลังสามารถประยุกต์ใช้ในการศึกษาพืชพรรณครอบคลุมโลกได้รายวัน มีวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ โคจรอยู่เหนือพื้นผิวโลก 830 กิโลเมตร มีเครื่องรับรู้ระบบ Advanced Very High Resolution Radiometer (AVHRR) High Resolution Infrared Radiation Sounder (HIRS/2) Stratospheric Sounding Unit (SSU) และ Microwave Sounding Unit (MSU) ระบบ AVHRR ถ่ายภาพในช่วงคลื่นตามองเห็น และช่วงคลื่นอินฟราเรดความร้อนมีความละเอียดภาพ 1 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2,600×2,600 กิโลเมตร ประโยชน์ที่ได้รับคือใช้ในการสำรวจด้านอุตุนิยมวิทยาสมุทรศาสตร์ อุทกศาสตร์ และอื่นๆ ในระดับพื้นที่กว้างขวาง

8. ดาวเทียม IRS (Indian Remote Sensing Satellite)

เป็นดาวเทียมพัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์ในการสำรวจทรัพยากรโดยประเทศอินเดีย ดาวเทียมชุดแรกได้แก่ IRS 1A ได้ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2531 ต่อมา วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ดาวเทียมดวงที่สอง คือ IRS 1B ได้ถูกส่งขึ้นสู่งวงโคจร โดยมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับดวงแรก หลังจากนั้นในวันที่ 15 ตุลาคม

พ.ศ. 2538 อินเดียได้ส่งดาวเทียมดวงที่สาม ของชุดนี้ คือ IRS P2 ขึ้นสู่วงโคจร และตามด้วยดาวเทียมดวงที่สี่ และห้า คือ IRS 1C เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2538 และ IRS 1D เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2540 สำหรับข้อมูลจากดาวเทียมที่นำมาใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ดาวเทียม IRS 1C,1D ซึ่งมีเครื่องรับรู้ที่สำคัญ ได้จาก ระบบ Linear Imaging and Self Scanning Sensor (LISS III) บันทึกข้อมูล ช่วงคลื่นตามองเห็นและอินฟราเรด รวม 4 ช่วงคลื่น ความละเอียดภาพ 23.5 เมตร ระบบแพนโครมาติก ความละเอียดภาพ 5.8 เมตรและ ระบบ WiFS ความละเอียดภาพ 188 เมตร โดยบันทึกข้อมูลในช่วงคลื่นตามองเห็นและอินฟราเรด

9. ดาวเทียม CARTOSAT

ดาวเทียม CARTOSAT 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 เป็นดาวเทียมดวงที่ 11 ของชุดดาวเทียม IRS ในการประยุกต์ด้านแผนที่ด้วยกล้องขาวดำ 2 กล้อง เพื่อถ่ายภาพสามมิติในช่วงคลื่นตามองเห็น ความละเอียดภาพ 2.5 เมตร ถ่ายภาพกว้าง 30 กิโลเมตร ดาวเทียม CARTOSAT 2 ดวงที่ 12 ของชุดดาวเทียม IRS ที่ถูกส่งขึ้นวงโคจรเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2549 เพื่อปฏิบัติการร่วมกับชุดดาวเทียม IRS อีก 6 ดวง ที่ยังทำงานอยู่คือ IRS 1C IRS 1D OCEANSAT 1 Technology Experimental Satellite (TES) RESOURCESAT 1 และ CARTOSAT 1 มีระบบแพนโครมาติก มีความละเอียดต่ำกว่า 1 เมตร ภาพกว้าง 9.6 กิโลเมตร สามารถถ่ายมุมเอียงถึง 45 องศา ขวางแนวโคจร สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อในการออกแบบรังวัดที่ดิน ด้านผังเมือง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

10. ดาวเทียม RADARSAT

ดาวเทียม RADARSAT 1 (ภาพที่ 3.21) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพัฒนาโดยองค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency : CSA) ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ติดตั้งเครื่องรับรู้ระบบเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ ในช่วงคลื่นแบนด์ C โพลาไรเซชันแบบ HH สามารถบันทึกข้อมูลได้ 7 ความละเอียดภาพตั้งแต่ 10 ถึง 100 เมตร ครอบคลุมพื้นที่เป็นแนวกว้างตั้งแต่ 45 ถึง 500 กิโลเมตร ดาวเทียม RADARSAT 2 มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ. 2550 และยังคงใช้ช่วงคลื่นแบนด์ C โพลาไรเซชันแบบ HH HV VH และ VV แต่มีความละเอียดภาพตั้งแต่ 3 ถึง 100 เมตร

11. ดาวเทียม ADEOS (Advanced Earth Observing Satellite)

ดาวเทียม ADEOS เป็นดาวเทียมขององค์การพัฒนาอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พัฒนาโดยความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกา ดาวเทียม ADEOS 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2539เพื่อใช้ประโยชน์ในการสำรวจทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเรือนกระจก และโอโซนในบรรยากาศ เป็นต้น ดาวเทียม ADEOS 2 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 และสิ้นสุดการปฏิบัติงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ดาวเทียมนี้มีเครื่องรับรู้ 5 ระบบ ได้แก่

–  Advanced Microwave Scanning Radiometer (AMSR)

–  Global Imager (GLI)

–  Sea Winds Scatterometer

–  Polarization and Directionality of the Earth’s Reflectances (POLDER)

– Improved Limb Atmospheric Spectrometer II (ILAS II)

12. ดาวเทียม IKONOS

ดาวเทียม IKONOS เป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ดวงแรกของบริษัท Space Imaging ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2541 โคจรที่ระดับความสูง 680 กิโลเมตร คาบโคจรรอบโลก 98 นาที และกลับมาที่เดิมทุก 3 วัน มีแนวถ่ายภาพกว้าง 1 กิโลเมตร มีความละเอียดภาพ ดังนี้

– ระบบแพนโครมาติก (0.45-0.90 ไมโครเมตร) ความละเอียดภาพ 1 เมตร

– ระบบหลายสเปกตรัมช่วงคลื่นตามองเห็น (น้ำเงิน 0.45-0.52 ไมโครเมตร เขียว 0.51-0.60 ไมโครเมตร แดง 0.63-0.70 ไมโครเมตร) และอินฟราเรดใกล้ (0.76-0.85 ไมโครเมตร)

13. ดาวเทียม QuickBird

ภาพดาวเทียม QuickBird

ดาวเทียม QuickBird เป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์รุ่นที่สองของบริษัท Digital Globe ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2544 มีความละเอียดภาพ 0.61 เมตร ในระบบแพนโครมาติก และ 2.44 เมตร ในระบบหลายสเปกตรัม โดยบันทึกข้อมูลช่วงคลื่นตามองเห็นและอินฟราเรดใกล้มีแนวถ่ายภาพกว้าง 16.5 กิโลเมตร โดยดาวเทียมรุ่นแรก คือดาวเทียม EarlyBird 1 ที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่24 ธันวาคม พ.ศ. 2540 มีความละเอียดภาพ 3 เมตร ในระบบแพนโครมาติก และ 15 เมตร ในระบบหลายสเปกตรัมหลังจากส่งขึ้นสู่วงโคจร 4 วัน คือในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมEarlyBird 1 ได้ ดาวเทียม QuickBird

14. ดาวเทียม TERRA

ดาวเทียม TERRA เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรขนาดใหญ่ (หนักประมาณ 5 เมตริกตัน) ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2542 แต่เดิมมีชื่อว่า EOS AM-1 โครงการดาวเทียม TERRA เป็นความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างชาติ คือ องค์การ NASA องค์การสำรวจทรัพยากรแห่งชาติญี่ปุ่น (Japan Resources Observation System Organization: JAROS) และองค์การอวกาศแห่งชาติแคนาดา (CSA) โดยองค์การ NASA พัฒนาตัวยานและเครื่องรับรู้ที่ติดตั้งบนดาวเทียม คือ Clouds and the Earth’s Radiant Energy System (CERES) Moderate-Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) และ Multi-angle Imaging SpectroRadiometer (MISR) องค์การ JAROS พัฒนาระบบ Advanced Spaceborne Thermal Emission and Reflection Radiometer (ASTER) และองค์การ CSA พัฒนาระบบ Measurements of Pollution in The Troposphere (MOPITT)

ดาวเทียม TERRA โคจรที่ระดับความสูง 705 กิโลเมตร กลับมาที่เดิมทุกๆ 16 วัน อายุใช้งาน 5 ปี มีเครื่องรับรู้ 5 ระบบ ได้แก่ ASTER CERES MISR MODIS และ MOPITT โดยมีเครื่องรับรู้ที่ใช้ในการรับรู้จากระยะไกลเพื่อสำรวจโลก ได้แก่ ASTER และ MODIS (ภาพที่ 3.26) ดังนั้นจะกล่าวถึงเฉพาะ 2 ระบบนี้เท่านั้น

ASTER เป็นเครื่องรับรู้ข้อมูลเชิงแสง (Optical sensor) มี 14 ช่วงคลื่น ตั้งแต่ช่วงคลื่นตามองเห็น จนถึงช่วงคลื่นอินฟราเรดความร้อนมีความละเอียดภาพ 15 30 และ 90 เมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ 60 กิโลเมตร สามารถปรับมุมถ่ายภาพได้ สำหรับบันทึกข้อมูลซึ่งเอื้อประโยชน์ในการทำภาพสามมิติเพื่อการสำรวจทรัพยากรรวมทั้งติดตามและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

MODIS พัฒนามาจากระบบ AVHRR ที่ติดตั้งบนดาวเทียม NOAA บันทึกข้อมูลครอบคลุมพื้นโลกทุกๆ 1-2 วัน มีแนวถ่ายภาพกว้าง 2,330 กิโลเมตร สามารถบันทึกข้อมูลในช่วงคลื่นต่างๆ กันถึง 36 ช่วงคลื่น (ระหว่าง 0.4-14 ไมโครเมตร) มีความละเอียดภาพตั้งแต่ 250 500 และ 1,000 เมตร สำหรับช่วงคลื่น 1-2 3-7 และ 8-36 ตามลำดับ ระบบ MODIS สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาทั้งบนพื้นดิน ทะเลบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมโลกอื่นๆ

15. ดาวเทียม AQUA

ดาวเทียม AQUA เป็นดาวเทียมสำรวจชุดเดียวกับดาวเทียม TERRA ถูกส่งขึ้นวงโคจรเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 โคจรที่ระดับความสูง 705 กิโลเมตร กลับมาที่เดิมทุกๆ 16 วัน อายุใช้งาน 6 ปี มีระบบเครื่องรับรู้ 6 ระบบ ได้แก่

– MODIS : Moderate Resolution Imaging SpectroRadiometer

– AMSR-E : Advanced Microwave Scanning Radiometer-EOS

– AMSU-A : Advanced Microwave Sounding Unit-A

– CERES : Cloud’s and the Earth’s Radiant Energy System

– AIRS : Atmospheric Infrared Sounder

– HSB : Humidity Sounder for Brazil

16. ดาวเทียม ALOS (Advanced Land Observing Satellite)

ดาวเทียม ALOS พัฒนาโดย Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการทำแผนที่ การติดตามภัยพิบัติ และการสำรวจทรัพยากร ดาวเทียม ALOS ประกอบด้วยเครื่องรับรู้ 3 ระบบ คือ

– Panchromatic Remote-sensing Instrument for Stereo Mapping (PRISM) ความละเอียดภาพ2.5 เมตร

– Advanced Visible and Near Infrared Radiometer type 2 (AVNIR-2) ความละเอียดภาพ 10 เมตร

– Phased Array type L-band Synthetic ApertureRadar (PALSAR) ความละเอียดภาพ 10-30 เมตร

17. ดาวเทียม THEOS (Thailand Earth Observation Satellite)

ดาวเทียม THEOS เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสโดยมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการสร้างดาวเทียม THEOS โดยได้ลงนาม

กับบริษัท EADS Astrium เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

โครงการดาวเทียม THEOS ประกอบด้วยการออกแบบ การพัฒนา การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศการควบคุมดาวเทียม และการดำเนินการภาคพื้นดินต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาร่วมกับบริษัท EADS Astrium ประเทศฝรั่งเศส ดาวเทียม THEOS เป็นระบบที่สามารถสำรวจครอบคลุมทั่วโลก สามารถบันทึกข้อมูลภาพได้ทั้งในช่วงคลื่นตามองเห็น และช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้

ดาวเทียม THEOS ได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 5 ปี และจะขึ้นสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 830 กิโลเมตร ในต้นปี พ.ศ. 2551 โดยข้อมูลที่บันทึกจากเครื่องรับรู้จะส่งมายังส่วนรับภาพภาคพื้นดิน(Image Ground Segment : IGS) ซึ่งเป็นส่วนควบคุมภาคพื้นดิน (Control Ground Segment : CGS) ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อการสั่งการและควบคุมดาวเทียม

– เครื่องรับรู้ของดาวเทียม THEOS

เครื่องรับรู้ของดาวเทียม THEOS ทำการบันทึกภาพพื้นผิวโลกด้วยอุปกรณ์ Charge Coupled Devices (CCD) ณ ระนาบรวมแสงของระบบเชิงแสงที่มีความเที่ยงตรงสูง องค์ประกอบภายในกล้องบันทึกภาพขาวดำ (กระจกหลักและระนาบรวมแสง) ทำจากวัสดุ Silicon Carbide (SiC) ซึ่งทำให้ระบบมีความเสถียรเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเครื่องรับรู้ระบบหลายสเปกตรัมเป็นแบบ Dioptic ซึ่งมีแผ่นกรองแสง 4 อัน ที่ระนาบรวมแสงของกล้องแต่ละตัวมีอุปกรณ์ CCD ซึ่งจะแปลงข้อมูลจากแสงที่สะท้อนจากพื้นโลกให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า ทั้งนี้หลักการพื้นฐานในการบันทึกภาพเรียกกว่า “Pushbroom scanning” โดยเป็นการบันทึกแต่ละเส้นของภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ แล้วรวมเส้นที่ต่อเนื่องกันให้เป็นภาพที่สมบูรณ์ ตามการเคลื่อนที่ของแนวเล็ง (Line of sight) บนพื้นผิวโลก ความละเอียดช่วงคลื่น ของเครื่องรับรู้หลายสเปกตรัม คล้ายคลึงกับความละเอียดช่วงคลื่นของดาวเทียม SPOT แต่อย่างไรก็ตามช่วงคลื่นแพนโครมาติกของดาวเทียม THEOS ครอบคลุมช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ด้วย

วันที่ 20 มกราคม 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีหนังสือไปยัง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อใหม่ให้ดาวเทียม THEOS ต่อมา วันที่ 18 มกราคม 2555 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมดังกล่าว ว่า ไทยโชต และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thaichote ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2554 สืบไป โดยมีความหมายว่า “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง

ภาพดาวเทียม THEOS

ภาพดาวเทียม THEOS

ตารางแสดงลักษณะและความละเอียดของดาวเทียม Thaichote

ตารางแสดงลักษณะและความละเอียดของดาวเทียม Thaichote

– วงโคจรของดาวเทียม Thaichote

ดาวเทียม Thaichote จะโคจรผ่านระนาบศูนย์สูตรจากทิศเหนือลงทิศใต้ เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นโดยมีคาบโคจรรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 101 นาที และจะโคจรถ่ายภาพซ้ำที่เดิมทุกๆ 26 วัน โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร หรือ 1 รอบวงโคจร (ดาวเทียมโคจรรอบโลก 14 + 5/ 26 รอบต่อวันโดยเฉลี่ย) และโคจรลักษณะเดียวกันตลอดซึ่งระยะห่างระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กิโลเมตร สามารถถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกภายใน 35 วัน โดยใช้เครื่องรับรู้ระบบหลายสเปกตรัม และภายใน 130 วัน เมื่อใช้เครื่องรับรู้ระบบแพนโครมาติก

กล้องของดาวเทียม Thaichote สามารถปรับมุมเอียงได้สูงถึง 50 องศา ทำให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการกลับมาบันทึกภาพบริเวณเดิม และภายใน 1 วัน ดาวเทียมสามารถถ่ายภาพได้กว่า 90% ของพื้นที่โลก สมรรถนะในการปรับเอียงกล้องของดาวเทียมทำให้สามารถถ่ายภาพได้ทุกพื้นที่ภายในแนวการบันทึก 1,000 กิโลเมตร เมื่อปรับเอียงกล้อง 30 องศา ความสามารถนี้ช่วยเพิ่มความถี่ในการถ่ายภาพพื้นที่ภายในการโคจรรอบโลก 1 รอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งละติจูดของพื้นที่ สำหรับประเทศไทยสามารถถ่ายภาพพื้นที่ที่ต้องการได้ถึง 9 ครั้งใน 26 วัน หรือ 126 ครั้งใน1 ปี กล่าวคือ โดยเฉลี่ยแล้วสามารถถ่ายภาพได้ทุกๆ 3 วันและใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน

– สมรรถนะในการปรับเอียงกล้องเพื่อถ่ายภาพ

ดาวเทียม Thaichote มีความสามารถสูงในการปรับเอียงเพื่อถ่ายภาพ สามารถถ่ายภาพได้หลายเป้าหมายในการโคจรผ่าน 1 ครั้ง พื้นที่ภายใต้มุมเอียง 12 องศา จากแนวดิ่งใต้ดาวเทียม (Nadir) ถือว่าเป็นภาพใกล้แนวดิ่ง โดยปกติแล้วการบันทึกภาพจะอยู่ภายใต้มุมเอียง 30 องศา แต่เมื่อมีภารกิจเร่งด่วน สามารถถ่ายภาพโดยมีมุมเอียงได้ถึง 50 องศา ความกว้างแนวถ่ายภาพของภาพแพนโครมาติก มีความกว้างประมาณ 22 กิโลเมตร และภาพหลายสเปกตรัมมีความกว้างประมาณ 90 กิโลเมตร

– ความสามารถในการถ่ายภาพสามมิติ

ดาวเทียมThaichote สามารถโปรแกรมการถ่ายภาพคู่ภาพถ่ายทรวดทรง (Stereo pair) เพื่อแสดงถึงทรวดทรงของภูมิประเทศและสร้างแบบจำลองความสูงได้ โดยสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

1) ถ่ายภาพพื้นที่เดียวกันจากสองแนวการโคจรโดยการเอียงกล้องในมุมที่ต่างกัน

2) เอียงกล้องเพื่อถ่ายภาพไปข้างหน้าและย้อนหลังในแนวโคจรเดียวกัน

Admin 12/10/2558 0
Share :