Head GISDTDA

GISTDA ประชุมหารือกับบริษัท SpaceX และ Thaicom เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมอวกาศ และนวัตกรรมอวกาศของประเทศ

22 พฤศจิกายน 2564 ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA พร้อมทีมผู้บริหาร GISTDA หารือกับ บริษัท SpaceX และ Thaicom เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานร่วมกันที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอวกาศ รวมถึงนวัตกรรมอวกาศ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

ข้อมูลประกอบเพิ่มเติม: พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอวกาศ เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจอวกาศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการสำรวจอวกาศของนานาประเทศ ผลักดันทำให้เกิดบริการรูปแบบใหม่หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพยากรณ์อากาศ การสำรวจแหล่งพลังงาน การสื่อสารทางไกล การประกันภัย การขนส่ง การเดินเรือ การบิน การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการพัฒนาเมือง เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้แน่นอนว่าก็จะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรฐกิจและสังคม นั่นหมายความว่าเมื่ออุตสาหกรรมอวกาศเติบโตย่อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอื่นๆโตขึ้นไปด้วย

ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีประเทศไทย จากการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

มีนักวิเคราะห์บางท่านคาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคต อุตสาหกรรมอวกาศโลก สามารถพัฒนากลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ได้ภายในปี 2040 ด้วยปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้

- การลงทุนของเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การลงทุนจำนวนมหาศาลของภาคเอกชนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมอวกาศ จะดึงดูดให้กลุ่มนักลงทุนในกลุ่มธุรกิจร่วมลงทุนหรือกลุ่มสตาร์ทอัพด้านธุรกิจอวกาศขยายตัวเพิ่มขึ้น
- รายได้จากอุตสาหกรรมอวกาศยังคงมีโอกาสเติมโตขึ้นเรื่อยๆ
- อุตสาหกรรมอวกาศสามารถต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่ได้อีกหลากหลาย เช่น การเป็นท่าอวกาศยาน การท่องเที่ยวในอวกาศ การทำเหมืองแร่ในอวกาศ รวมทั้งการสำรวจ วิจัยการทดลองในอวกาศ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมอวกาศยังสามารถปรับใช้เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในยุคใหม่ได้อีกหลายมิติ

สำหรับ GISTDA ในฐานะองค์กรภาครัฐได้เตรียมการมาโดยตลอด เรามี “GALAXI Lab” ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ ที่ได้รับมาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์กรการบิน อวกาศ และการป้องกันประเทศ เรามี “ASTROLAB” ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร เรามี “MicroX” ห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เป็นต้น และในอนาคตอันใกล้กับ เรามี “ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ” ซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เป็นต้น นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วในรูปแบบของ Space Ecosystem ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ศรีราชา และไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับคนยุคใหม่รุ่นต่อๆไปเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรชั้นนำอย่าง SpaceX และ Thaicom มีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ GISTDA จนทำให้เกิดการหารือเพื่อทำงานร่วมกันในอนาคต เรามีดีอะไร? เขามีดีอะไร? คนไทยคือผู้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

#GISTDA #ก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #เศรษฐกิจอวกาศ #อุตสาหกรรมอวกาศ #นวัตกรรมอวกาศ

Admin 23/11/2564 0
Share :