Head GISDTDA

ปฐมบท GISTDA ตอนที่ 2

ต่อเนื่องจากปฐมบท GISTDA ตอนที่ 1 (https://bit.ly/3yp77YJ)ได้ถ่ายทอดเรื่องราวก่อนที่จะมาเป็น GISTDA ในปัจจุบัน ผ่านการบอกเล่าจาก ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ อดีตผู้อำนวยการและกรรมการบริหาร GISTDA ในยุคบุกเบิกเทคโนโลยีอวกาศไทยจนสามารถก่อตั้งองค์กรอวกาศของประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือกาลานุกรมบันทึกเหตุการณ์สำคัญแห่งการบุกเบิกเทคโนโลยีอวกาศไทย
.
“หลังจากการดำเนินการจัดตั้งขึ้นมา GISTDA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย แต่กลับไม่มีใครอยากเป็นผู้อำนวยการ” ดร.สุวิทย์ อธิบายถึงความท้าทายในการทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการจัดตั้งฯ ในขณะนั้นว่า เนื่องด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการ GISTDA เป็นตำแหน่งที่ท้าทาย ค่าตอบแทนไม่สูงมากนักและมีการคัดสรรใหม่ทุกๆ 4 ปี ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ที่เพิ่งประกาศใช้ได้ไม่นาน และท้ายที่สุดเมื่อไม่มีใครสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการ GISTDA ดังนั้น ดร.สุวิทย์ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ GISTDAเป็นคนแรก
.
แน่นอนว่าการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในองค์กรที่เพิ่งก่อตั้งใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ดร.สุวิทย์ก็ได้เล่าให้ฟังถึงความภาคภูมิใจของท่านที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งให้พวกเราได้ฟังกัน เริ่มต้นจาก ภูมิใจที่ได้สร้างคนและให้โอกาสคนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยในปีแรกที่รับตำแหน่งมีพนักงานแค่เพียง 60 คน จนกระทั้งปีสุดท้ายในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีพนักงานเพิ่มขึ้นรวมแล้วประมาณ 200 กว่าคน
.
ภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสผลิตหนังสือทูลเกล้าถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช่น หนังสือจากห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นชื่อพระราชทาน เป็นต้น และภูมิใจในการได้สร้างดาวเทียมธีออสที่นับว่าไม่น้อยหน้าใครในสมัยนั้น ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานชื่อจากรัชกาลที่ 9 เป็น ดาวเทียมไทยโชต แปลว่าดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง
.
ในช่วงที่มีการออกแบบดาวเทียมไทยโชต ประเทศไทยเป็นประเทศที่นานาชาติจับตามอง โดยเฉพาะเรื่องของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีอวกาศ เนื่องจากไทยทำรายได้จาการขายข้อมูลดาวเทียม Landsat ได้เป็นอันดับ 4 ของโลก อีกทั้งเป็นประเทศแรกในในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดิน ดังนั้นหากประเทศไทยมีข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูงในขณะนั้น อาจจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
.
“ในสมัยนั้นถ้าหากรายละเอียดภาพที่ต่ำกว่า 2 เมตร จะไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างเนื่องจากถือว่าเป็นดาวเทียมจารกรรม” เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างดาวเทียมไทยโชตที่ ดร.สุวิทย์ได้เล่าให้ฟัง นอกจากนั้นในระหว่างการสร้างดาวเทียม ดร.สุวิทย์ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยระหว่างการดำเนินการจัดจ้างบริษัท EADS Astrium เพื่อผลิตดาวเทียม ได้ทำการเจรจาต่อรองราคาซึ่งได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทำให้สามารถต่อรองราคาให้ลดลงประมาณ 400 ล้านบาท
.
ต่อมาในช่วงที่ดาวเทียมไทยโชตหรือธีออสในขณะนั้นอยู่ในระหว่างเตรียมการส่งขึ้นสู่วงโคจรในปีพ.ศ.2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ ดร.สุวิทย์ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร GISTDA ประเทศไทยโดย GISTDA ได้จัดแสดงนิทรรศการถึงความก้าวหน้าเทคโนโลยีอวกาศไทยระหว่างการประชุมคณะกรรมการการใช้อวกาศในทางสันติแห่งสหประชาชาติ (Committee on the Peaceful Uses of Outer Space) หรือ COPUOS 2008 ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น โดยที่ประชุมได้แต่งตั้งให้ ดร.สุวิทย์ ในฐานะผู้แทนประเทศไทยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานฯ คนที่ 1 โดยมีวาระ 2 ปี ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น, จีน, อินโดนีเซียและอินเดีย
.
นอกจากนั้นในเวทีความร่วมมือระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ได้มีการประชุมระดับปลัดกระทรวงฯ (Senior official) ภายใต้การประชุมคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ The Ministerial Conference on Space Applications for Development in Asia and the Pacific โดย UNESCAP ในขณะนั้น ดร.สุวิทย์ ในฐานะผู้แทนประเทศไทยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคนที่ 2 ในการประชุมครั้งแรกที่ประเทศจีน และรองประธานคนที่ 1 ในการประชุมครั้งสองที่ประเทศอินเดีย (การประชุมครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ประเทศไทย)
.
ในด้านของความร่วมมือระดับโลก มีคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Committee on Earth Observation Satellites (CEOS) เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีดาวเทียมสำรวจโลก ซึ่งในอดีต ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการGISTDAคนปัจจุบัน และ ดร.ดาราศรี ดาวเรือง อดีตรองผู้อำนวยการGISTDA เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก “ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับ GISTDA เป็นหน่วยงานอวกาศของประเทศไทย” ดร.สุวิทย์กล่าว (ปัจจุบัน GISTDA ได้รับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งประธาน CEOS อีกครั้ง และจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี)
.
ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ ยังได้ฝากข้อเสนอแนะให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศไทยไว้ว่า การพัฒนาดาวเทียมมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เช่น อากาศยานไร้คนขับมาช่วยสนับสนุนข้อมูลภาพรายละเอียดสูง เป็นต้น ดั้งนั้นแนวทางการพัฒนาดาวเทียมในอนาคตควรคำนึงถึงเป้าหมายการนำไปใช้งานเป็นสำคัญ อาจจะเป็นดาวเทียมรายละเอียดไม่สูงมากนัก แต่มีหลายดวง เพื่อเพิ่มรอบความถี่ในการถ่ายภาพให้มากขึ้น
.
ควรมีการสร้างเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียม เพื่อให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ และ GISTDA ก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการผู้ใช้งาน จึงจะเกิดการเชื่อมโยงสู่การนำไปใช้งานจริงและเกิดการพัฒนาทั้งทางด้านสังคม อีกทั้งการสร้างเครือข่ายนักวิจัย พัฒนาเครือข่ายกับภาคเอกชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการร่วมกันพัฒนาทั้งเชิงวิชาการและด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
.
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่เข้มข้นไปด้วยประสบการณ์แห่งการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสังคมด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้า และรวบรวมเหตุการณ์แห่งการบุกเบิกเพื่อวางรากฐานเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยตลอด 21 ปี ไว้ในหนังสือกาลานุกรมของ GISTDA ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ “อดีต” ไม่ใช่เรื่องราวที่แค่เพียงรอวันถูกลบเลือน แต่ทว่าอดีตที่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบคือข้อมูลที่มีคุณค่าต่อการกำหนดทิศทางอนาคตต่อไป
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #THEOS2
#พัฒนาสังคม #กาลานุกรม #นวัตกรรมอวกาศ #วิสัยทัศน์ #ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร #สภาวิจัยแห่งชาติ #สถานีรับสัญญาญดาวเทียม #ลาดกระบัง #ผลิตข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม #Landsat #องค์การมหาชน #ปฐมบทจิสด้า #ยุคบุกเบิก #เทคโนโลยีอวกาศไทย #การสร้างคน #พัฒนาประเทศ #ธีออส #ไทยโชต #ดาวเทียมรายละเอียดสูง #COPUS #องค์กรระหว่างประเทศ #เอเชีย #แปซิฟิค #UNESCAP #อากาศยานไร้คนขับ #เครือข่าย ดูน้อยลง

Admin 15/12/2564 1
Share :