Head GISDTDA

ไฟป่า สถานการณ์ที่ไทยเผชิญอย่างต่อเนื่อง

ไฟป่า.. สถานการณ์ที่ไทยเผชิญอย่างต่อเนื่อง 
.
ฤดูกาลของไฟป่ากำลังใกล้เข้ามา ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่ามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ถึง ปี พ.ศ. 2564 ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการบันทึกข้อมูลพื้นที่ถูกเผาไหม้ทั้งหมดประมาณ 49.97 ล้านไร่ โดยปีล่าสุด พ.ศ. 2564 มีพื้นที่ถูกเผาไหม้รวมทั่วประเทศ 100,772.92 ไร่ เป็นพื้นที่ภาคเหนือมากถึง ร้อยละ 83 จากสถานการณ์ไฟป่าที่ผ่านมาและคาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับไฟป่าให้มากยิ่งขึ้นกันครับ
.
ไฟป่า คือ ไฟที่ปราศจากการควบคุม ลุกลามไปอย่างอิสระ เผาผลาญเชื้อเพลิงธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดินอินทรีย์ (ดินที่มีซากพืชที่ยังสลายตัวไม่หมดปะปนอยู่) ใบไม้ หญ้า กิ่งไม้แห้ง หรือแม้กระทั่งต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้ให้คำนิยามของ ไฟป่าว่า “ไฟที่เกิดขึ้นโดยสาเหตุใดก็ตาม แล้วลุกลามไปโดยอิสระ ปราศจากการควบคุม ทั้งนี้ไม่ว่าไฟนั้นจะเกิดขึ้นในป่าธรรมชาติหรือสวนป่าก็ตาม” โดยองค์ประกอบของไฟป่านั้น มีด้วยกันทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่
 เชื้อเพลิงหรืออินทรียสารทุกชนิดที่สามารถติดไฟได้ เช่น กิ่งไม้ กอไผ่ ต้นไม้ รวมไปถึงดินอินทรีย์และชั้นถ่านหินที่อยู่ใต้ผิวดิน 
 ออกซิเจน เป็นองค์ประกอบหลักของอากาศที่กระจายตัวอยู่ภายในป่า 
 ความร้อน ความร้อนเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติ เช่น การเสียดสีของกิ่งไม้ ฟ้าฝ่า หรือการรวมแสงอาทิตย์ผ่านหยดน้ำ และความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ 
.
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง จากสถิติย้อนหลังที่ผ่านมาของประเทศไทย ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ถึง ปัจจุบัน จากข้อมูลดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS จำนวนจุดความร้อนสะสมของประเทศไทย ถูกพบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 64,900 จุด  2) จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 62,427 จุด 3) จังหวัดตาก จำนวน 56,146 จุด 4) จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 42,710 จุด และ 5) จังหวัดลำปาง จำนวน 39,007 จุด โดยจำนวนจุดความร้อนสะสมของทั้ง 5 จังหวัดรวมกันเท่ากับ 265,190 จุด หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือ สาเหตุนั้นอาจเพราะสภาพภูมิประเทศเนื่องจากภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง และมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ เมื่ออากาศร้อนเข้ามาในพื้นที่ทำให้เกิดการสะสมและไม่สามารถถ่ายเทไปยังที่อื่นได้ หากเกิดการลุกไหม้ของไฟแล้ว ใบไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
.
อีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่านั้นมาจากพฤติกรรมมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเริ่มต้นสำหรับการทำเกษตรครั้งใหม่ การเข้าไปหาของป่า หรือการแกล้งจุด สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาส่งผลในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อน เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ดังนั้นเรื่องของไฟป่าหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 จึงเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคนและจำเป็นต้องช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป ซึ่งประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี พ.ศ.2565 ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Nattakarn Sirirat 24/1/2565 0
Share :