Head GISDTDA

AIP สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

AIP สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความยั่งยืน..” เรียบง่ายแต่ท้าทายต่อการไปให้ถึง
.
หนึ่งเป้าหมายท้าทายของการพัฒนาประเทศที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในปัจจุบัน คือการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้บนพื้นฐานของความยั่งยืน จะทำอย่างไรจึงจะรักษาสมดุลการพัฒนาได้อย่างรอบด้าน ทำอย่างไรเศรษฐกิจและสังคมจะเติบโตได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความต้องการของคนรุ่นหลัง จะมีแนวทางก้าวเดินอย่างไร ที่จะเป็นไปในทิศทางที่สมดุล พอดี พอเพียง และตามทันโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้
.
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ค.ศ. 2030 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า ‘SDGs’ ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของโลกในประเด็นต่าง ๆ ให้แต่ละประเทศร่วมดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความเป็นสากล เชื่อมโยง และเกื้อหนุนกันระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
.
#GISTDA #มุ่งก้าวตามทิศทางโลกด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน
.
GISTDA ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทสำคัญด้านภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ได้นำแนวทางและเป้าหมาย SDGs มาเป็นกรอบในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทาย ผ่านโครงการระบบดาวเทียมสำรวจโลก-2 (THEOS-2) ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะ หรือ AIP (Actionable Intelligence Policy) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และขับเคลื่อนไปสู่การลงมือปฏิบัติในระดับพื้นที่
.
ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงเวลาริเริ่มดำเนินโครงการ THEOS-2 นวัตกรรม AIP ได้ถูกนำไปปรับใช้กับพื้นที่จริงที่มีบริบทแตกต่างกัน 2 พื้นที่ ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดน่าน เพื่อเป็นกรณีศึกษา และเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะสามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ ที่มีบริบทของปัญหาคล้ายคลึงกันได้ โดยทิศทางหลักของโครงการ คือลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้อย่างเท่าเทียม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
.
#Land of 5 Zero’s #ขจัดอุปสรรคสำคัญที่ถ่วงรั้ง EEC
.
พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นับว่าเป็นหนึ่งพื้นที่ศักยภาพสูงของประเทศ และถูกกำหนดให้เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในด้านของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาพื้นที่ชุมชน และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและสมดุลกันในการพัฒนาทุกมิติ นวัตกรรม AIP จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จากหลายแหล่ง ที่มีความซับซ้อน สกัดเป็นข้อมูลเชิงลึกที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่จะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติได้จริง
.
อย่างไรก็ดี EEC เป็นพื้นที่ที่มีบริบทของปัญหาที่หลากหลายซับซ้อน การพัฒนาจึงเป็นไปอย่างควบคู่กับการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ยังถ่วงรั้ง GISTDA และหน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมออกแบบกรอบแนวคิดในการพัฒนาที่เรียกว่า ‘Land of 5 Zero’s’ เพื่อขจัด 5 ปัญหาอุปสรรคในพื้นที่ให้หมดไป หรือเบาบางลงจนไม่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ความยากจนของประชาชน (Zero Poverty) การขาดทรัพยากรน้ำ (Zero Water Shortage/Conflict) ปัญหาขยะ (Zero Waste) ปัญหามลพิษ (Zero Emission/Pollution) และ การกัดเซาะชายฝั่ง (Zero Loss of Shoreline) โดยมุ่งเน้นการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน บนพื้นฐานของความยั่งยืน
.
#วิถีชีวิตที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิด ‘Wealthy Life on Green’ ที่ #จังหวัดน่าน
.
วิถีเกษตรกรรมที่อยู่คู่ชาวไทยมาช้านาน คือมรดกทางภูมิปัญญาและวิถีที่ควรค่าแก่การรักษาให้คงอยู่ อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง นวัตกรรม AIP จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีปัญหาดังกล่าว โดยมีจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกิน เป็นพื้นที่ต้นแบบในการขับเคลื่อนระยะแรก มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมลงอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน
.
‘ข้อมูล’ คือกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ AIP ได้นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศของจังหวัดน่านมาวิเคราะห์เชิงลึกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งระเบียบกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดน่าน นำไปสู่นโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการสร้างวิถีความยั่งยืนในพื้นที่อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันได้ โดยโครงการมุ่งเป้าสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ พื้นที่ทำกินและแหล่งน้ำที่ยั่งยืน (Land & Water Sustainability) ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ (Economic Sustainability) การพัฒนาเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน (Eco Sustainability) และ ความยั่งยืนด้านสุขภาพ (Health Sustainability)
.
#AIP #อยู่ตรงไหนในภารกิจเพื่อความยั่งยืน ?
.
การขับเคลื่อนโครงการ THEOS-2 และพัฒนานวัตกรรม AIP เพื่อประยุกต์ใช้ในระดับพื้นที่ สอดคล้องรองรับกับหลายเป้าหมายของ SDGs ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านการพัฒนาคน โดยการขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย ส่งเสริมการมีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี มิติด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน มิติด้านการสร้างความมั่งคั่ง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาเมืองและชุมชนให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมิติด้านการเสริมสร้างความร่วมมือ บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เป็นกลไกการขับเคลื่อนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะประชาชนคือหัวใจสำคัญของการพัฒนา
.
#ก้าวต่อไปของ #GISTDA #สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
.
GISTDA ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับยุคสมัย ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานเจตนารมณ์เพื่อการรักษาสมดุลในทุกด้าน เพราะเราตระหนักดีว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่บั่นทอนสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคม ย่อมมิอาจเรียกว่า “ยั่งยืน” ได้อย่างสมบูรณ์
.
การขับเคลื่อนยังดำเนินต่อไป พร้อมความคาดหมายอย่างเต็มเปี่ยม ว่าก้าวเล็ก ๆ ในวันนี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนของสังคมไทยได้ในอนาคต
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #AIP #ความยั่งยืน #การพัฒนา #ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ #SDGs #THEOS2 #EEC #ลดความเหลื่อมล้ำ #กระจายรายได้ #ความยากจน #มลพิษ #การกัดเซาะชายฝั่ง #คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Nattakarn Sirirat 24/1/2565 1
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง