Head GISDTDA

คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) นักฆ่าไร้เสียง

คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) นักฆ่าไร้เสียง

     สำนักงานพัฒนาเทคโลโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เฝ้าติดตามและรายงานผลสถานการณ์ต่างๆ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยข้อมูลจากดาวเทียมอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะในเรื่องของจุดความร้อน ฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ จากสถานการณ์ที่ผ่านมา เรามักจะได้รับข้อมูลของสภาพอากาศที่ผิดปกติ สร้างความวิตกกังวลในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันอาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราจะได้กลับมาสัมผัสอากาศที่สดชื่นขึ้น เนื่องจากข้อมูลปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์จากดาวเทียม Sentinel-5P นั้นมีปริมาณลดน้อยลงหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับก๊าซชนิดนี้กันก่อนครับ
.
     CO หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Carbon monoxide (คา-บอน-มอ-น็อก-ไซ) โดย CO เป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี เกิดจากการเผาไหม้คาร์บอนที่ไม่สมบูรณ์ในเชื้อเพลิงต่างๆ เช่น ฟอสซิล การเผาถ่าน เตาเผา ไฟไหม้ เครื่องยนต์ สารเคมีหรือปฏิกิริยาเคมีบางชนิด
.
     ปกติแล้วอากาศที่เราใช้ในการหายใจระหว่างดำเนินชีวิตประจำวันนั้น มี CO ปะปนอยู่เป็นปกติ แต่เนื่องจากมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ จึงไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายและระบบทางเดินหายใจ โดยหน่วยวัดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์เรียกว่า Part Per Million (ppm) มีความหมายคือ ปริมาณหนึ่งส่วนในล้านส่วน (1 ใน 1,000,00) ยกตัวอย่างเช่น CO ในที่อยู่อาศัยจะมีปริมาณ 0.5-5 ppm หรือในห้องครัว 5-15 ppm ซึ่งค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ในพื้นที่อุตสาหกรรมนั้นจะอยู่ที่ 200 ppm หรือค่าเฉลี่ย 8 ชม./วัน อยู่ที่ 35 ppm
.
     ดังนั้นเมื่อพูดถึงผลกระทบแล้วล่ะก็ หากเราได้รับ CO มากเกินไปก็จะสามารถทำให้ร่างกายของมนุษย์ขาดออกซิเจน ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ 1) คาร์บอนมอนอกไซด์จะแย่งจับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงของมนุษย์ ที่ทำหน้าที่นำพาออกซิเจนไปส่งให้กับเนื้อเยื้อต่างๆ ในร่างกาย 2) คาร์บอนมอนอกไซด์ขัดขวางการนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื้อต่างๆ ของเม็ดเลือดแดงส่วนที่เหลือ ส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ คือ รู้สึกมึนศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อย หมดสติ หรือจนถึงขั้นเสียชีวิต
.
     นอกจากผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป CO ยังสร้างผลกระทบต่อสังคมไม่แพ้กัน โดยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นั้น เป็นมลพิษทางอากาศ 1 ใน 6 ชนิดที่นำมาคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ที่หลายหน่วยงานนิยมใช้ในการรายงานสถานการณ์ ทำให้ในบางครั้งถึงแม้ว่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีปริมาณไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. แต่ก็ยังส่งผลให้ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของสุขภาพประชาชนไปจนถึงระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม โดยเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการจะมีเศรษฐกิจที่ดีได้นั้นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับอากาศที่บริสุทธิ์
.
     แต่หากเรามาย้อนดูข้อมูลปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จากดาวเทียม Sentinel-5P ที่แสดงผลควบคู่กับข้อมูลจุดเผาไหม้ทั่วโลก (FIRMS: Fire Information for Resource Management System) มีจุดที่น่าสังเกตุคือในปี พ.ศ. 2564 (สีแดง) และ ปี พ.ศ. 2565 (สีเหลือง) ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน (เดือนมกราคม) ปี 2565 มีปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์น้อยกว่า ซึ่งก็อาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคต CO หรือมลพิษทางอากาศชนิดอื่นๆ อาจจะมีปริมาณลดน้อยลงอันเป็นผลมาจากการร่วมมือของประชาชนและหลายๆหน่วยงาน ที่ออกมาตรการต่างๆ โดยเสมอมา
.
     แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือสารมลพิษทางอากาศชนิดอื่นๆจะน้อยลงอย่างที่คาดเดาหรือไม่ เราคงต้องอาศัยความร่วมมือป้องกัน เฝ้าระวัง โดยในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีต่างๆ มากมายที่ให้ข้อมูลและมีส่วนช่วยในการตัดสินใจ บริหารจัดการ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งจุดนี้ก็อาจทำให้มนุษย์เราได้กลับมามีอากาศที่บริสุทธิอย่างที่เคยมีอีกครั้งก็เป็นได้
#GISTDA #จิสด้า #ก้าวสู่ปีที่22 #ภัยพิบัติและมลพิษทางอากาศ #ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Phapawich Mahamart 31/1/2565 2
Share :