Head GISDTDA

เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการพัฒนาทักษะการคิดเชิงพื้นที่สำหรับเยาวชน

#เทคโนโลยีอวกาศ #เพื่อการพัฒนา #ทักษะ #การคิดเชิงพื้นที่ #สำหรับเยาวชน
.
     พลังการสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่นับว่าเป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศชาติ หากได้รับการสนับสนุนให้มีพื้นที่แสดงออกอย่างเหมาะสม ยิ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะเพิ่มพูนความสามารถเพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาประเทศในอนาคตได้
.
     มาวันนี้ GISTDA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังการสร้างสรรค์จากเยาวชนที่สามารถผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กลายเป็นเครื่องมือพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ เพิ่มพูนทักษะการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ ฝึกฝนการมองปัญหาสังคมในรูปแบบแผนที่เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาหรือชี้นำไปยังจุดที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมถ่ายทอดผลงานสู่สาธารณะ เนื่องจากทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงพื้นที่นี้เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับนักพัฒนา โดยทั้งหมดนี้รวมอยู่ในโครงการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ ครั้งที่ 9
.
#สื่อภูมิสารสนเทศคืออะไร
.
     สื่อภูมิสารสนเทศเป็นรูปแบบหนึ่งการนำเสนอเรื่องราวหรือปัญหาทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือการสอดแทรกวิธีนำเสนอเนื้อหาด้วยแผนที่หรือภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นระยะตลอดการเล่าเรื่อง เพื่อแสดงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของเรื่องที่กำลังถ่ายทอด บอกเล่าให้ผู้ที่รับชมเกิดภาพจินตนาการไปตามเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่อง เช่น แผนที่จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหากเกิดน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลอ่าวไทยในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ(ลมหนาว) ซึ่งก็จะเน้นด้วยสีให้เห็นชัดเจนบนแผนที่ว่าเป็นกลุ่มจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก หรือภาพถ่ายดาวเทียมแสดงอัตราส่วนพื้นที่ระหว่างเขตที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านและพื้นที่สีเขียวรอบหมู่บ้าน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของมาตรการอนุรักษ์ป่าของชุมชน เป็นต้น
.
     สื่อภูมิสารสนเทศเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีอวกาศ วิถีชีวิตของมนุษย์ และการสร้างสรรค์ ที่จะก่อให้เกิดสื่อถ่ายทอดความเข้าใจบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านมุมมองบนแผนที่ เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์เราล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นที่ ดังนั้นการออกแบบวิธีเล่าผ่านแผนที่หรือภาพถ่ายจากดาวเทียมจึงเป็นสื่อชั้นดีที่จะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาได้อย่างน่าสนใจและรวบรัด เช่น การเดินทางอันแสนลำบากแสดงด้วยเส้นที่คดโค้งไปมาบนแผนที่ หรือชุมชนแห่งหนึ่งที่มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม นำเสนอโดยภาพถ่ายจากดาวเทียมที่รายล้อมไปด้วยแปลงเกษตร เป็นต้น
.
     ขณะเดียวกันสื่อภูมิสารสนเทศนับได้ว่าเป็นเครื่องมือเพื่อการฝึกฝนทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์เชิงพื้นที่ทั้งสำหรับเยาวชนที่เป็นคนพัฒนาสื่อและเยาวชนอีกหลายคนที่เป็นผู้รับชม โดยระหว่างการพัฒนาสื่อภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศ น้องๆที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสเรียนรู้เครื่องมือภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะแผนที่และภาพถ่ายจากดาวเทียม รวมถึงได้ฝึกฝนการมองปัญหาต่างๆในรูปแบบเชิงพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นพื้นฐานในการนำเสนอเนื้อหาที่เตรียมไว้ จากนั้นเมื่อผลงานได้รับการเผยแพร่จะมีเยาวชนอีกหลายคนที่มีโอกาสได้รับชม ก็จะค่อยซึมซับแนวความคิดดังกล่าวผ่านการสร้างสรรค์วิธีนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ
.
#ทำไมต้องแผนที่หรือภาพดาวเทียม
.
     แผนที่หรือภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นหนึ่งในเครื่องมือภูมิศาสตร์ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตําแหน่ง ทําเล ที่ตั้ง การกระจาย ขอบเขต ความหนาแน่น ได้อย่างชัดเจน ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจถึงเหตุและผลของปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พื้นที่ระบาดของโรคไข้เลือกออกมันมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งน้ำนิ่งและต้นไม้หนาแน่นเพราะเหมาะสำหรับเป็นแหล่งขยายพันธุ์ยุง พื้นที่การทำนาข้าวส่วนมากจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านเพราะข้าวเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากเพื่อการเจริญเติบโต เป็นต้น
.
#ทักษะการคิดเชิงพื้นที่สำคัญอย่างไร
.
     การคิดเชิงพื้นที่ (Spatial Thinking) เป็นศาสตร์ที่ใช้หลักการด้านภูมิศาสตร์ เช่น ที่ตั้ง ทิศทาง มาตราส่วน แบบรูป พื้นที่ และแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ทางภูมิศาสตร์กับเวลา เป็นต้น เพื่อหาเหตุผลและความสัมพันธ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่มาของปรากฏการณ์ต่างๆในสังคม เช่น สภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่นที่มีผลต่ออาชีพและวัฒนธรรมของประชาชนที่อาศัยอยู่ หรือ หมู่บ้านที่ตั้งริมแม่น้ำบริเวณเชิงเขาที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูง หมู่บ้านนั้นย่อมเสี่ยงต่อภัยพิบัติดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝน เป็นต้น
.
     โดยผู้ที่มีทักษะการคิดเชิงพื้นที่จะสามารถเชื่อมโยงเหตุผลเชิงพื้นที่เข้าด้วยกันและสร้างภาพในหัวได้อย่างรวดเร็วทำให้มองเห็นภาพรวมและเข้าใจปัญหาหรือปรากฏการณ์นั้นได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับนักพัฒนาเนื่องจากความเข้าใจที่ดีต่อประเด็นปัญหาจะนำมาสู่มาตรการแก้ไขได้อย่างตรงจุดและถูกต้อง
.
#หัวใจสำคัญของการพัฒนาสื่อภูมิสารสนเทศ
.
     สื่อภูมิสารสนเทศไม่เพียงแต่จะเป็นกลไกการเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงพื้นที่โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมหรือเทคโนโลยีอวกาศเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้มีทักษะติดตัวและนำไปใช้ในอนาคตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และยังช่วยปลูกฝังจิตสำนึกของการแบ่งปันให้สังคม เนื่องจากตลอดการพัฒนาสื่อต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญเพื่อการออกแบบวิธีถ่ายทอดเนื้อหาและภาษาที่ใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะทำให้ผู้ชมสื่อฯสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก อีกทั้งก็เป็นการแบ่งปันองค์ความรู้สู่สังคมอีกด้วย
.
#ตัวอย่างสื่อภูมิสารสนเทศ
.
     GISTDA ได้จัดการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ในหัวข้อที่แตกต่างกันในแต่ละปี ทำให้มีผลงานคุณภาพจำนวนมากและหลากหลายเนื้อหาจากทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายซึ่งเป็นตัวแทนจากแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ learn.gistda.or.th เมนูสื่อภูมิสารสนเทศ หรือจะค้นหาใน youtube โดยใช้คำค้นว่า “สื่อภูมิสารสนเทศ” จะเห็นได้ว่าเรื่องรอบตัวเราเกือบจะทุกเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับพื้นที่และสามารถนำมาถ่ายทอดในรูปแบบแผนที่ได้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ ป่าชุมชน การท่องเที่ยว เป็นต้น
.
#เข้าร่วมกิจกรรมอย่างไร
.
     ปัจจุบัน GISTDA อยู่ในระหว่างเปิดรับสมัครให้ส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกภายใต้ชื่อการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2565 (Geo-informatic Media Contest 2022 : GMC2022) จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 รายละเอียดโครงการและใบสมัครสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ learn.gistda.or.th ซึ่ง GMC2022 ปีนี้เปิดรับผลงานในหัวข้อ “ขุมทรัพย์ชุมชน” แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีอวกาศนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยล้วนสามารถนำมาขัดเกลาภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วเล่าเป็นเรื่องผ่านมุมมองจากอวกาศก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ๆที่น่าสนใจขึ้นมาได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยพลังสร้างสรรค์จากเยาวชน

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #สื่อภูมิสารสนเทศ #การพัฒนา #เยาวชน #การคิดเชิงพื้นที่ #GMC2022 #แผนที่ #อวกาศ #ขุมทรัพย์ชุมชน

Phapawich Mahamart 9/2/2565 958 1
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง