Head GISDTDA

การเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในศตวรรษที่21

#NewSpaceEconomy #ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศ #อุตสาหกรรมใหม่มาแรงแห่งอนาคต
.
#การเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในศตวรรษที่21
.
“เพราะทุกการพัฒนาของเทคโนโลยีอวกาศ คืออีกก้าวของการพัฒนาเศรษฐกิจ” เมื่ออุตสาหกรรมอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และเส้นแบ่งของอวกาศกับชีวิตประจำวันก็น้อยลงเรื่อย ๆ
.
อุตสาหกรรมอวกาศเป็นหนึ่งในสาขาแห่งอนาคตที่มีความสำคัญและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Space 3.0 หรือ ‘New Space’ ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาการทางอวกาศถูกนำมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างแพร่หลาย เกิดเป็นระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศที่ยังประโยชน์แก่ประชาชนในหลายด้าน และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด
.
หลายคนอาจไม่ทราบว่าอุตสาหกรรมอวกาศนั้นเกี่ยวโยงอยู่ในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจที่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างที่พบได้ทั่วไปคือบริการส่งอาหาร Delivery ที่ทยอยเปิดตัวมากมายในปัจจุบัน นอกจากนี้ ข้อมูลภูมิสารสนเทศยังสามารถนำไปประยุกต์กับธุรกิจต่าง ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การประกันภัย, อุตสาหกรรมพลังงาน, การท่องเที่ยว, เทคโนโลยีด้านข้อมูล, การระบุตำแหน่งเพื่อบังคับทิศทางและการควบคุมทางไกล, การโทรศัพท์ผ่านวีดีโอ, Wifi บนเครื่องบิน, รถยนต์ไร้คนขับ, การพยากรณ์สภาพอากาศ, การตรวจสอบปริมาณฝุ่น การเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอวกาศใหม่ที่มีการดำเนินการในหลายประเทศที่มีบทบาทนำในด้านอวกาศ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจดาวเทียมสื่อสารขนาดเล็กวงโคจรไม่ประจำที่ การให้บริการสถานที่ปล่อยจรวดอวกาศ (Space launching) การขุดทรัพยากรบนดาวเคราะห์ (Space mining) และการท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต
.
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสนับสนุนธุรกิจและบริการมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งการเกิดขึ้นของ Startup และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนต่อยอดการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศเพื่อตอบโจทย์ยุคสมัย และสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ในการให้บริการทางธุรกิจ ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันเชิงรุกมากขึ้น ตลอดจนเกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่มากขึ้น
.
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเพียงกิจการของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังขยายการใช้ประโยชน์ไปสู่ภาคธุรกิจ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อต่อยอดใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สามารถสร้างรายได้ ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าทางเศษฐกิจ ตอบสนองความต้องการของสังคม ตลอดจนสามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจอวกาศ”
.
#ประเทศไทยได้อะไรจากเศรษฐกิจอวกาศ
.
กิจการอวกาศกำลังกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น มิใช่เพียงดาวเทียมในภาพจำ แต่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ต่อยอดจากการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันกำลังให้ความสนใจกับนวัตกรรมที่ช่วยให้สามารถฝ่าฝืนข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ เทคโนโลยีอวกาศจึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น เป็นยุคที่มนุษย์ได้รับประโยชน์มหาศาลจากดาวเทียม จากสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจอวกาศ
.
ปัจจุบันการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของแต่ละประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกเหนือไปจากมิติความมั่นคงของรัฐและสังคม ยังขยายไปถึงการแข่งขันด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอวกาศ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้ศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ในปี 2019 ระบุตัวเลขรายได้อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศ และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ซึ่งประเทศไทยจะช้าไม่ได้ เพราะวงโคจรอวกาศเป็นทรัพยากรร่วมที่มีอยู่จำกัด ในขณะที่จำนวนเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงขยะอวกาศนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
#บทบาทของ #GISTDA #กับการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อรองรับเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต
.
GISTDA ในฐานะหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศ โดยมุ่งพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศในอนาคตอันใกล้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ และพัฒนาศักยภาพด้านอวกาศของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ
.
ระบบนิเวศด้านอวกาศ (Space Ecosystem) ในกรอบการพัฒนาของ GISTDA ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ 2) ข้อมูลภูมิสารสนเทศ 3) การพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ และ 4) การพัฒนาหลักสูตร Non degree ด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ
.
ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่สำคัญของ GISTDA มีความครอบคลุมและได้รับการรับรองมาตรฐานสากล โดยตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ จ.ชลบุรี ไม่ว่าจะเป็น อาคารควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียมแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ (GALAXI Lab) ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร (Astro Lab) ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ (SOAR Lab) รวมถึงระบบสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ
.
GISTDA เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรสนับสนุน เพื่อเป็น Center Excellence ศูนย์กลางการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านวิทยาการอวกาศและนวัตกรรมแห่งอนาคต มุ่งเน้นต่อยอดองค์ความรู้อย่างยั่งยืนโดยการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้มีศักยภาพ รวมทั้งการสร้างฐานเครือข่ายมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และองค์กรด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
.
#ฉากทัศน์แห่งอนาคตของเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทย
.
ประเทศไทยนับว่าอยู่ในกระบวนการแห่งความพยายามในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของเศรษฐกิจอวกาศเต็มรูปแบบ ตามบริบทความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ตลอดจนการแข่งขันของตลาดโลกที่สูงขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจตามนโยบายของแผนแม่บทกิจการอวกาศแห่งชาติ 20 ปี
.
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ รองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศในประเทศไทย ตลอดจนดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานเพิ่มขึ้น
.
ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย มิใช่เพียงแค่การครอบครองความมั่งคั่งหรือการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศโลก แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพาประเทศให้ดีขึ้น โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีจากภาครัฐ และไอเดียจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ร่วมมือกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมรองรับผลกระทบจากพลวัตที่เข้มข้นในอนาคตอันใกล้
.
GISTDA ในฐานะหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศ มุ่งแสวงหาโอกาสและเปิดรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่นำพาประเทศไปสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านอวกาศในภูมิภาคอาเซียน และไปสู่การเป็นประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศระดับโลกในอนาคต
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #เศรษฐกิจ #อวกาศ #อุตสาหกรรมอวกาศ #วิทยาการอวกาศ #นวัตกรรมอวกาศ #บริการส่งอาหาร #Delivery #ประกันภัย #พลังงาน #ท่องเที่ยว #เทคโนโลยีด้านข้อมูล #การระบุตำแหน่ง #การควบคุมทางไกล #รถยนต์ไร้คนขับ #เกษตรอัจฉริยะ 

 

phakpoom.lao 23/2/2565 1623 1
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง