Head GISDTDA

เทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงของประเทศ

#เทคโนโลยีอวกาศ #เพื่อความมั่นคงของประเทศ
.
#ความมั่นคงทางอวกาศคืออะไร #ทำไมจึงสำคัญ?
.
     “ความมั่นคงทางอวกาศ” เป็นหนึ่งในมิติสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในภาพรวมได้ ไม่น้อยไปกว่าทางบก ทางทะเล และทางไซเบอร์ เพราะห้วงอวกาศที่ไร้ซึ่งเขตแดนเป็นทรัพยากรที่เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถแสวงหา ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน แน่นอนว่าประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าย่อมได้เปรียบเสมอ
.
     “ห้วงอวกาศไม่อาจถูกยึดครองหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐใดๆได้ เพื่อให้รัฐทั้งหลายได้มีเสรีภาพในการสำรวจ และใช้อวกาศบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกัน” ข้อความจากสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการ ของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะวัตถุในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 ซึ่งเป็นสนธิ สัญญาพหุพาคีฉบับแรกที่ได้กำหนดไว้เพื่อให้ทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศร่วมกันอย่างเท่าเทียม และเป็นระเบียบ อย่างไรก็ตาม การแย่งชิงผลประโยชน์ในห้วงอวกาศก็นำมาซึ่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ได้เช่นเดียวกัน
.
     หลายประเทศตระหนักในความสำคัญของการใช้ประโยชน์ห้วงอวกาศเพื่อความมั่นคง จึงแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอวกาศอย่างเต็มขีดความสามารถเราจะเห็นได้ว่าประเทศที่แสวงหาประโยชน์จากห้วงอวกาศได้มากกว่า มักจะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อโลก และมิใช่เพียงในมิติทางการทหารเพื่อสร้างอำนาจ รักษาอธิปไตย และป้องกันภัยคุกคามเท่านั้น แต่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศสามารถเกี่ยวโยงทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม หากมิติใดขาดความสมดุล ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้
.
#เทคโนโลยีอวกาศ #สามารถส่งเสริมความมั่นคงของประเทศได้อย่างไร?
.
     เทคโนโลยีอวกาศมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมระบุพิกัดบนพื้นโลก ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา รวมไปถึงข้อมูลภูมิสารสนเทศ (GIS) ถูกประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ ในหลายรูปแบบ เช่น การวางแผนภารกิจป้องกันประเทศ สนับสนุนปฏิบัติการด้านการข่าวการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ในสภาพภูมิประเทศและองค์ประกอบต่าง ๆ บนพื้นโลก เพื่อการวางแผนปฏิบัติภารกิจ ทั้งที่เป็นการปฏิบัติการทางทหารและ การช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ การตรวจจับอาชญากรรมข้ามชาติ การสังเกตการณ์ทางอวกาศ รวมไปถึงการใช้ดาวเทียม จารกรรมหรือดาวเทียมสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจุดประสงค์ด้านการทำสงครามระหว่างประเทศ
.
     ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของประเทศที่ท้าทายต่อการรับมือ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขตแดนทางทะเล ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการลักลอบลำเลียงยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาภัยพิบัติ สาธารณะที่หลายครั้งเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว การปฏิบัติหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล และข่าวกรองที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถวางแผนจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที
.
     เทคโนโลยีอวกาศและระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศจึงมีความสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบข้อมูลและข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงการผสมผสานกิจการอวกาศและความก้าวหน้าทางไซเบอร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวาง แผนการปฏิบัติการทางทหารเพื่อภารกิจด้านความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
.
#THEOS2 #กับมิติด้านความมั่นคงของรัฐและสังคม
.
     การใช้ประโยชน์ดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของรัฐและสังคม เป็นเป้าประสงค์ 1 ใน 6 ด้าน ของโครงการ THEOS-2 ที่ได้วางแผนออกแบบดาวเทียมเพื่อการเฝ้าระวังรักษาความสงบของประเทศ เช่น ด้านการป้องกันการก่อการร้าย การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ การค้ายาเสพติดและการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การรักษาความสงบภายในประเทศและระหว่างประเทศบริเวณเขตแนวชายแดน ตลอดจนการประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่เกิดภัยพิบัติ เป็นต้น
.
     หนึ่งในภารกิจของโครงการ THEOS-2 คือการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อความมั่นคง รวมทั้งเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการป้องกันประเทศ (Defense and Security) ให้แก่บุคลากร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลและข่าวกรองที่แม่นยำ ทันสมัย และรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังพื้นที่ยุทธศาสตร์และบริเวณชายแดนของประเทศ รวมไปถึงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนและชายฝั่งทะเล รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล บทบาทของ GISTDA กับภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ
.
     GISTDA ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มีเป้าหมายหลักในในการส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความรู้ที่เชื่อมโยงทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของประเทศเข้าไว้ด้วยกัน นอกเหนือจากการดำเนินโครงการ THEOS-2 แล้ว ยังให้บริการด้านการผลิต จัดหา รวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำคลังข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรและภูมิสารสนเทศ เพื่อการต่อยอดใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ
.
     GISTDA ตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงของรัฐและสังคมในทุกมิติ มิใช่เพียงการป้องกันภัยคุกคามเท่านั้น ยังคงเดินหน้าแสวงหาองค์ความรู้และโอกาสในการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ทางการทหารแล้ว ยังเป็นไปเพื่อการพัฒนาให้เกิดความมั่นคงในทุกด้าน โดยยึดผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #มั่นคง #ห้วงอวกาศ #พัฒนาประเทศ #ดวงจันทร์ #เทหะวัตถุ #เท่าเทียม #เศรษฐกิจ #การเมือง #สังคม #วัฒนธรรม #ความสมดุล #ดาวเทียมสื่อสาร #ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร #ข้อมูลภูมิสารสนเทศ #ป้องกันประเทศ #ด้านการข่าวสาร #ความเข้าใจ #วางแผน #ทางทหาร #ภัยพิบัติ #อาชญากรรมข้ามชาติ #สังเกตการณ์ทางอากาศ #พื้นที่ทับซ้อน #ชายแดนใต้ #ลักลอบ #ยาเสพติด #THEOS2 #รักษาความสงบ #ป้องกันการก่อการร้าย #ข้อมูลเพื่อความมั่นคง #พื้นที่ยุทธศาสตร์ #ชายแดนประเทศ

Phapawich Mahamart 22/2/2565 6638 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง