Head GISDTDA

โลกจะร้อนหรือหนาวกันแน่ ? Polar Vortex กระแสลมวนเย็นยะเยือก

ไหนบอกว่าโลกร้อน ? #PolarVortex #กระแสลมวนเย็นยะเยือก

.

     เพื่อนๆ สังเกตกันไหมครับว่าช่วงนี้ สภาพอากาศทั่วโลก หรือแม้แต่บ้านเราช่างแปรปรวนซะเหลือเกิน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว แค่นั้นยังไม่พอกลับมีฝนตกอีกด้วย สถานการณ์แบบนี้เล่นเอาแอดมินลืมไปเลยว่าสรุปแล้วตอนนี้เราอยู่ในฤดูไหนกันแน่ หากติดตามข่าวการพยากรณ์อากาศก็จะพบว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคกลาง มีอุณหภูมิลดต่ำลง บางแห่งลดลงมากเกือบ 10 องศาเซลเซียส ซึ่งนั่นอาจส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพมนุษย์อย่างเราๆ รวมไปถึงพืชผลการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้

.

     แน่นอนอยู่แล้วว่าต้นตอของสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน โลกรวน ภัยพิบัติแปลกๆ ที่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ภาวะโลกร้อน (Global Warming) แต่ก็นั่นแหละใครจะไปรู้ว่าลึกๆ แล้วสาเหตุเกิดจากปรากฎการณ์ Polar Vortex หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “ลมวนขั้วโลก”

.

     Polar Vortex เป็นกระแสลมวนในเขตขั้วโลกเหนือบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) และขั้วโลกใต้บริเวณทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) เคลื่อนที่หมุนทวนเข็มนาฬิกา มีความกดอากาศต่ำทำให้มีความหนาวเย็นตลอดเวลา และจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยเจ้าลมวนขั้วโลกนี้จะคอยเก็บความเย็นของบริเวณขั้วโลกเอาไว้ แต่ด้วยความที่โลกของเรานั้นเปลี่ยนไปไม่สมดุลอย่างที่เคย ผสมกับตัวแปรที่หลากหลายซึ่งนำมาสู่ภาวะโลกร้อน ทำให้กระแสลมดังกล่าวมีการเคลื่อนที่ผิดแปลกออกไปจากปกติ สร้างความแปรปรวนให้กับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่อย่างคาดไม่ถึง

.

     สาเหตุความแปรปรวนของสภาพอากาศในปรากฎการณ์ Polar Vortex นั้นเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิบริเวณขั้วโลก เดิมทีผิวน้ำแข็งมหาสมุทรอาร์กติกและทวีปแอนตาร์กติกาจะคอยทำหน้าที่สะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ แต่ภาวะโลกร้อนทำให้ชั้นบรรยากาศถูกทำลายจนเกิดช่องโหว่ให้แสงอาทิตย์ส่องเข้ามายังโลกได้มากขึ้น น้ำแข็งที่ละลายจะไม่สามารถสะท้อนความร้อนกลับได้อย่างที่เคย แย่กว่านั้นเมื่อละลายจนหมดทำให้พื้นดินดูดซับความร้อนเก็บไว้บนพื้นโลก การเปลี่ยนแปลงจุดนี้ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของสภาพอากาศ ส่งผลให้มวลความเย็นถูกแผ่ลงมายังเขตที่อุ่นกว่า และบางพื้นที่กลับมีความอุ่นเข้าไปแทนที่

.

     โดยปรากฎการณ์ Polar Vortex นั้นมีความเชื่อมโยงกับกระแสลมกรด (Jet Stream) ลมกรดนั้นเป็นกระแสอากาศที่เคลื่อนที่ไปรอบโลกคล้ายการเลื้อยของงู จากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ทำหน้าที่เสมือนเข็มขัดที่คอยรัดและประคองกระแสลมวนขั้วโลกเอาไว้ แต่เมื่อใดที่สภาพอากาศไม่สมดุลทำให้กระแสลมกรดอ่อนกำลังลง ไอ้เจ้า Polar Vortex นี้ก็จะเคลื่อนที่ต่ำลงมาสร้างความหนาวเย็นให้กับเขตที่อุ่นกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในตอนกลางของสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์นี้ ที่มีทั้งหิมะ ลูกเห็บ อากาศหนาวเย็นและพายุที่รุนแรงในหลายรัฐอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (สามารถคลิกดูภาพประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น)

.

     และนอกจากปรากฎการณ์ Polar Vortex ยังมีปรากฎการณ์อื่นๆ ที่ทำให้สภาพอากาศนั้นผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) ที่ส่งผลกระทบกับกระแสลมกรดทำให้บางพื้นที่เกิดฝนตกเพิ่มมากขึ้น บางที่เคยแล้งก็แล้งหนักกว่าเก่า บางเมืองก็เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ตรงกันข้ามบางเมืองจากที่เคยเกิดในรอบ 10 ปี กลับเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้น กลายเป็นปรากฎการณ์ภูมิอากาศสุดขีด (Extreme Events) อย่างเช่น การเกิดพายุลูกเห็บที่พะเยาเมื่อเดือนที่ผ่านมา หรือเร็วๆ นี้มีลูกเห็บตกในจังหวัดตรังและสตูลในรอบหลายปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีกับมนุษย์และสัตว์โลกแน่นอน เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องช่วยให้โลกใบนี้กลับมาสู่สภาวะสมดุลอย่างที่เคยเป็น ถึงแม้ว่าอาจต้องใช้เวลาแต่อย่างน้อยก็พอที่จะช่วยบรรเทาผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้าง

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #โลกร้อน #โลกรวน #GlobalWarmimg #PolarVortex #ลมวนขั้วโลก #กระแสลมกรด #ลมกรด #JetStream #เอลนีโญ #ลานีญา #ภูมิอากาศสุดขีด #ภูมิอากาศสุดขีด #มองไปกับเป็ด

Phapawich Mahamart 18/2/2565 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง