Head GISDTDA

มองประวัติศาสตร์ผ่านภูมิสารสนเทศ ดินแดน “สุวรรณภูมิ” ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก

#มองประวัติศาสตร์ผ่านภูมิสารสนเทศ #ดินแดน “#สุวรรณภูมิ” #ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก
.
#เราศึกษาอดีตทำไม ? #ภูมิสารสนเทศมีบทบาทอย่างไรในมิติประวัติศาสตร์ ?
.
     ร่องรอยทางประวัติศาสตร์คือหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน จริงอยู่ที่ควรมองไปข้างหน้า แต่การเรียนรู้วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ก็ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์แนวทางของอนาคตได้ โดยไม่ละเลยคุณค่าในอดีต เรามักจะคุ้นเคยกันดีกับการนำข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในงานด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมือง หรือความมั่นคง แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าสามารถใช้ประโยชน์ในงานด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีไทม์แมชชีนเพื่อย้อนเวลา
.
     เรื่องราวทางประวัติศาสตร์สามารถบอกเล่าผ่านมุมมองของอวกาศได้ การมองพื้นที่จากภาพใหญ่จะช่วยสร้างความเข้าใจในภาพรวม การผสมผสานศาสตร์โบราณคดี วิทยาศาสตร์ ภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยีอวกาศเข้าด้วยกัน เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้สามารถหารูปแบบความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ได้ ไม่เพียงแต่มิติทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมิติเชิงพฤติกรรมมนุษย์ การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน พาณิชยการ และศิลปวัฒนธรรม
.
#จากจุดต่อจุด...#สู่แผนที่ภูมิอารยธรรม
.
     ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geospatial Data) ถูกใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาช้านาน เราจะเห็นกันว่า “แผนที่” เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบอย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการวิเคราะห์ในเชิงลึกมากขึ้น สามารถซ้อนทับข้อมูลหลายชั้นให้เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของปรากฏการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ
.
     แผนที่เชิงประวัติศาสตร์ (Histrorical Map) เป็นการผสมผสานเทคนิคทางสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยใช้ทั้งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ และข้อมูล GIS ในการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกับข้อมูลทางโบราณคดี และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แสดงผลในรูปแบบแผนที่เพื่อศึกษารูปแบบความสัมพันธ์เชิงพื้นที่และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในแต่ละห้วงเวลา เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง โครงข่ายถนน เส้นทางการค้า การเคลื่อนย้ายประชากรและตั้งถิ่นฐาน เป็นต้น เพื่อสร้างภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้น ๆ ผ่านการวิเคราะห์ปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ เกิดเป็นแผนที่ภูมิอารยธรรม บอกเล่าเรื่องราวในอดีตเพื่อส่งต่อคุณค่าสู่การพัฒนาในยุคต่อไป
.
#สุวรรณภูมิ” #ดินแดนวัฒนธรรมร่วมแห่งอาเซียนในศตวรรษที่ 21
.
     “สุวรรณภูมิ” เมื่อเอ่ยถึงชื่อนี้ หลายคนอาจนึกถึงสนามบินประจำประเทศไทย แต่ “สุวรรณภูมิ” ในอดีต เป็นดินแดนศูนย์กลางความเจริญและการหลอมรวมอารยธรรมทั้งจากดินแดนตะวันตกและตะวันออกที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในโลก ดังปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายาวนาน เชื่อกันว่าดินแดนแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง แม้จะเป็นดินแดนนามธรรมทางความคิด แต่ก็เป็นดินแดนเชิงสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ ที่ส่งผลต่อกรอบแนวคิดของการพัฒนาประเทศได้ไม่น้อย
.
     แม้จะยังไม่มีไทม์แมชชีนย้อนเวลา แต่วันนี้เทคโนโลยีสามารถพาเราย้อนรอยศึกษาความเป็นมาของดินแดนสุวรรณภูมิ เพื่อพิสูจน์ว่าดินแดนแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงตำนาน ผ่านการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และโบราณคดี เพื่อเชื่อมโยงคุณค่าจากความรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนี้ในอดีต จุดประกายอารยธรรมบนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิที่มีอยู่จริงตามหลักฐานเชิงประจักษ์
.
#GISTDA #ผลักดัน “#สุวรรณภูมิ” #สู่วัฒนธรรมร่วมแห่งอาเซียนในศตวรรษที่ 21
.
     GISTDA ได้ดำเนินโครงการ “สุวรรณภูมิ : ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก” ร่วมกับหน่วยงานภาคีกว่า 10 หน่วยงาน โดยนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรม ในการวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าหาร่องรอยแห่งคุณค่าในอดีต และสกัดคุณค่าแห่งอารยธรรมนี้มารังสรรค์เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาพื้นที่ของดินแดนสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
.
     ร่องรอยประวัติศาสตร์ถูกนำมาร้อยเรียงเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ GISTDA ได้จัดทำฐานข้อมูลตำแหน่งสถานที่สำคัญที่มีการค้นพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อสังเคราะห์หาตำแหน่งเมืองต่าง ๆ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละจุด เพื่อจำลองภูมิทัศน์ของดินแดนสุวรรณภูมิ ทั้งการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ ความสอดคล้องของชายฝั่งทะเลกับเมืองท่า และเส้นทางการค้าที่เคยเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค ภายใต้การตรวจสอบความถูกต้องของนักวิชาการด้านโบราณคดี
.
     จากจุดต่อจุดของการดำเนินโครงการ คุณค่าของดินแดนสุวรรณภูมิได้ถูกสกัดออกมาใน 5 มิติ ประกอบไปด้วย 1) ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและทรัพยากร 2) ด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐ 3) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาการและการผลิต 4) ด้านการค้าขาย พาณิชยการและการบริการ และ 5) ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุวรรณภูมิเป็นดินแดนศูนย์กลางความเจริญ โดยคุณค่าทั้ง 5 มิติ ได้ถูกนำไปต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ในนามของ “สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” ภายใต้ความร่วมมือของโครงการ “TASSA”
.
     “สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” เป็น 1 ใน 5 ของสถาบันวิจัยหลักของ “ธัชชา” (TASSA) หรือ วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและกลไกสำคัญในการวิจัยและบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. โดย GISTDA ได้สนับสนุนฐานข้อมูลและองค์ความรู้จากโครงการสุวรรณภูมิฯ เพื่อขยายผลสู่การพัฒนาเชิงสังคมและเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้บริบทแห่งสุวรรณภูมิปรากฏเด่นชัดท่ามกลางนานาบริบทของการพัฒนา ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค ตลอดจนระดับโลก
.
#ส่งต่อคุณค่าของดินแดนสุวรรณภูมิในอดีต...#สู่การพัฒนาคุณค่าในอนาคต
.
     คุณค่าจากการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของดินแดนสุวรรณภูมิ นอกเหนือไปจากแสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแล้ว ยังเป็นการถอดบทเรียนและสร้างความเข้าใจภูมิอารยธรรมของพื้นที่นี้ในอดีต ที่สามารถนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก เพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า สังคม และการท่องเที่ยวของดินแดนสุวรรณภูมิ หรือภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน
.
     GISTDA ส่งต่อคุณค่าเพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศ โดยผลักดันการสร้างความร่วมมือในกลุ่ม 5 ชาติอาเซียน ทั้งประเทศไทย อินเดีย เมียนมา อินโดนีเซีย และจีน ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมร่วมแห่งอาเซียนในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (One Belt One Road) เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่โดยใช้จุดแข็งของอาเซียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ประชาคมอาเซียนมีความมั่นคงและเข้มแข็งยิ่งขึ้น ก้าวข้ามข้อจำกัดทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และถิ่นที่อยู่อาศัย เกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมตามวิถีแห่งอาเซียน ภายใต้แนวคิดของโครงการ “ASEAN Joint Culture Initiative Program: The ASEAN Way”
.
#อารยธรรมเชื่อมโลก...#ภูมิสารสนเทศเชื่อมเรื่องราว
.
     โครงการ “สุวรรณภูมิ...อารยธรรมเชื่อมโลก” ได้ส่งมอบคุณค่าผ่านผลผลิตจากโครงการให้เราได้ศึกษาในรูปแบบที่น่าสนใจและเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น หนังสือสุวรรณภูมิ...ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก (Suvarnabhumi Terra Incognita) ที่บอกเล่าผลการศึกษาทั้งหมดที่ GISTDA ได้ดำเนินการ และหนังสือ Golden Land ที่แสดงข้อมูลหลักฐานที่ถูกค้นพบในดินแดนสุวรรณภูมิ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีในรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับผู้สนใจสามารถศึกษาหาความรู้ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ ขยายไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลากหลายด้านในอาเซียน
.
     ภูมิสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ เริ่มจากข้อมูลจุดเล็ก ๆ ที่ร้อยเรียงเชื่อมต่อ สู่การพลิกฟื้นอารยธรรมเหนือกาลเวลา เรื่องราวในอดีตที่ถูกบอกเล่าผ่านความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมที่เชื่อมโยงกันของคนในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ เมื่อเราตระหนักได้ว่าเราต่างมีความเชื่อมโยงและไม่ได้ถูกแบ่งแยกโดยเส้นเขตแดน มโนทัศน์นี้จะพาให้เรากล้าที่จะร่วมกันพัฒนา ทั้งด้านภูมิเศรษฐกิจ ภูมิการเมืองและความมั่นคง ภูมิสังคมและวัฒนธรรม ให้ดินแดนแห่งนี้สามารถเป็น “อารยธรรมเชื่อมโลก” ได้อย่างแท้จริง
.
     สำหรับผู้สนใจเรื่องราวแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ สามารถศึกษาได้ที่ : https://bit.ly/3sieG1R
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #ประวัติศาสตร์ #สุวรรณภูมิ #ภูมิอารยธรรม #การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ #ศิลปวัฒนธรรม #ข้อมูลเชิงพื้นที่ #โบราณคดี #วิวัฒนาการ #แผนที่เชิงประวัติศาสตร์ #ปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ #วัฒนธรรมร่วมแห่งอาเซียน #TASSA 

Phapawich Mahamart 25/2/2565 1190 1
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง