Head GISDTDA

ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส...สำหรับนวัตกรรมอวกาศ

#ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส_สำหรับนวัตกรรมอวกาศ
.
     “ขณะที่คุณพยายามตั้งรกรากบนดาวอังคาร รัสเซียพยายามยึดครองยูเครน! ขณะที่จรวดของคุณลงจอดจากอวกาศได้สำเร็จ จรวดรัสเซียโจมตีพลเรือนยูเครน! เราขอให้คุณจัดหาสถานีสตาร์ลิงค์ให้ยูเครน” เป็นข้อความที่ มิกาอิโล เฟโดรอฟ รมว.กระทรวงดิจิทัลยูเครน ขอให้ Elon Musk สนับสนุนอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมภายใต้โครงการสตาร์ลิงค์ให้กับยูเครน ที่กำลังถูกรัสเซียรุกราน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านทวิตเตอร์ของเขา
.
     สืบเนื่องมาจากระบบอินเทอร์เน็ตยูเครนได้รับผลกระทบจากการบุกของรัสเซียทำให้เกิดสัญญาณขัดข้องโดยเฉพาะทางภาคใต้และทางภาคตะวันออกของยูเครนที่เกิดการสู้รบอย่างหนัก ต่อมาหลังจากนั้น 10 ชั่วโมง Elon Musk เผย บริษัทสเปซเอ็กซ์ของตนเปิดบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม “สตาร์ลิงค์” ในยูเครนแล้ว ตามคำขอรัฐมนตรีดิจิทัล เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อุตสาหกรรมอวกาศเข้ามามีบทบาทในการช่วยบรรเทาวิกฤติบนโลกใบนี้
.
#ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสตาร์ลิงค์
.
     สตาร์ลิงค์ (Starlink) เป็นกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากที่โคจรในวงโคจรต่ำ (Low earth orbit : LEO) ประมาณ 550 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก พัฒนาโดย SpaceX เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลกในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเริ่มทำการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 จนถึงปัจจุบันในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีดาวเทียมสตาร์ลิงค์อยู่ในวงโคจรบนอวกาศแล้วจำนวน 2,091 ดวง
.
     เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารแห่งสหรัฐอเมริกา (the United States Federal Communications Commission : FCC) ได้ยื่นเอกสารต่อ International Telecommunication Union (ITU) ในนามของ SpaceX เพื่อจัดคลื่นความถี่สำหรับดาวเทียมสตาร์ลิงค์เพิ่มเติม 30,000 ดวงเพื่อรองรับดาวเทียมสตาร์ลิงค์ 12,000 ดวง ซึ่งต่อมาได้รับการอนุมัติจาก FCC เป็นที่เรียบร้อย
.
     การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตจากของสตาร์ลิงค์ต้องเป็นประเทศที่มีสัญญาอนุญาต Space X ให้บริการในพื้นที่ของประเทศนั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวน 29 ประเทศที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตดาวเทียมจากสตาร์ลิงค์ และอยู่ในระหว่างเจรจาด้านกฎหมายอีกจำนวนมาก ซึ่งยูเครนก็คือประเทศในลำดับที่ 29 ที่อนุญาตให้สตาร์ลิงค์ให้บริการในประเทศ และก่อนหน้านี้ตองกาก็สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมสตาร์ลิงค์หลังจากการปะทุของภูเขาไฟในเดือนมกราคม 65 ที่ผ่านมา โดยมีสถานีภาคพื้นดินอยู่ที่ประเทศฟิจิเป็นเวลา 6 เดือน
.
#สตาร์ลิงค์ทำงานอย่างไร
.
     สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตสตาลิงค์นั้นไม่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงผ่านสมาร์ทโฟน แต่ต้องอาศัยจานดาวเทียมขนาดเทียบเท่ากับกล่องพิซซ่าในการเชื่อมต่อกับกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงค์ ซึ่งจานดาวเทียมสามารถติดตั้งได้ทุกที่ที่ไม่มีสิ่งบดบังระหว่างจานดาวเทียมและท้องฟ้า ทาง SpaceX ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่าสามารถติดตั้งแม้กระทั่งบนหลังคารถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว
.
     เนื่องจากโครงข่ายดาวเทียมสตาร์ลิงค์กว่าสองพันดวงจึงทำให้สามารถรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้เกือบทุกพื้นที่บนโลก (ยกเว้นขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้) ทั้งนี้ในช่วงที่สตาร์ลิงค์เริ่มทำการทดสอบระบบมีผู้ใช้งานเผยว่า แม้จะอยู่ในป่าลึกไม่มีเครือข่ายเน็ตมือถือก็สามารถใช้งานเน็ตจากสตาร์ลิงค์ได้
.
     นอกจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแล้ว การให้โอกาสแก่คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากภาคพื้นดิน เช่น สายไฟเบอร์ออปติกที่มีข้อจำกัดในการติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ก็เป็นอีกวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างให้เท่าเทียมกับคนที่อาศัยในเมือง เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้แก่พื้นที่ห่างไกล นอกจากนั้นทาง SpaceX ยังมีแผนระยะยาวที่จะพัฒนาระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเพื่อรองรับโครงการต่างที่จะเกิดขึ้นบนดาวอังคารในอนาคต ด้วยการต่อยอดองค์ความรู้จากโครงการสตาร์ลิงค์
.
#เกี่ยวกับค่าบริการของสตาร์ลิงค์
.
     ย้อนไปในเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 SpaceX ได้เปิดตัวบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในสหรัฐอเมริกา โดยมีค่าบริการรายเดือน 99 USD หรือประมาณ 3,000 บาท และค่าอุปกรณ์จานดาวเทียมประมาณ 499 USD หรือประมาณ 16,000 บาท ด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ 50 – 150 Mbps และความหน่วงที่ 20 – 40 ms หลังจากนั้นในต้นปี 2564 ก็ได้เริ่มขยายไปยังประเทศอื่นๆเริ่มจากประเทศแคนนาดาและอังกฤษ ซึ่งในช่วงแรกการใช้งานอินเทอร์เน็ตยังอยู่ในพื้นที่จำกัดไม่ไกลจากตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้ที่ลงทะเบียนไว้
.
     และเมื่อไม่นานมานี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทาง SpaceX ได้เปิดตัวบริการใหม่ Starlink Premium ซึ่งยกระดับการให้บริการด้วยจานดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ต 150 – 500 Mbps ถือว่าใกล้เคียงอินเทอร์เน็ตแบบสายไฟเบอร์ออปติก และแน่นอนค่าบริการรายเดือนที่เพิ่มขึ้นเป็น 500 USD หรือประมาณ 16,000 บาท และค่าอุปกรณ์ 2,500 USD หรือประมาณ 80,000 บาท
.
     ซึ่งในอนาคตทาง SpaceX มีแผนที่จะปรับความเร็วอินเทอร์เน็ตให้เร็วและเสถียรขึ้นโดยการลดระยะการเดินทางของสัญญาณจากดาวเทียมลงสู่จานรับสัญญาณบนโลกหรือปรับลดความสูงของวงโคจรดาวเทียมสตาร์ลิงค์ในเฟส 2 ให้เหลือความสูงประมาณ 335 – 345 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2570
.
     ทุกๆวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ขึ้นอยู่กับมุมมองและการเตรียมพร้อมของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ที่นวัตกรรมอวกาศมีส่วนสำคัญในการช่วยคลี่คลายปัญหา โดยครั้งนี้แม้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสื่อสารในยามสงครามที่หลายคนก็ไม่อยากให้เกิด แต่เชื่อว่าทุกวันนี้โลกได้รับรู้แนวความคิดสำคัญของโครงการสตาร์ลิงค์ในการใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อมอบโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำที่ปัญหาเรื้อรังในสังคม
.
อ้างอิง
.
Starlink.com
The standard
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #Starlink #SpaceX #ยูเครน #รัสเซีย #Elon #Musk #อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม #ดาวเทียมขนาดเล็ก #วงโคจรต่ำ #มอบโอกาส #แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

Phapawich Mahamart 3/3/2565 805 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง