Head GISDTDA

Burned Area บาดแผลจากเปลวเพลิง

     ในที่สุดสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันก็เริ่มที่จะปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นหลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้จำนวนจุดความร้อนภายในประเทศมีจำนวนลดน้อยลง บางวันมีจุดความร้อนเกิดขึ้นไม่ถึง 20 จุดทั่วประเทศเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากนี้นี่แหละครับที่น่าเป็นห่วงเพราะหากไม่มีน้ำและความชื้นจากพายุฝน เชื้อเพลิงที่ยังคงเหลือนั้นเรียกได้ว่ากำลังรอที่จะลุกไหม้อย่างเต็มที่ สร้างบาดแผลให้กับผืนป่าและพื้นที่การเกษตรอย่างแน่นอน ดังนั้นบทความนี้แอดมินจะขอหยิบยกเกร็ดความรู้หรือสาระเล็กๆ น้อยๆ ในการวิเคราะห์ถึงระดับความรุนแรงของการเผาไหม้มาให้แฟนเพจได้อ่านกันครับ

     โดยปกติแล้วเมื่อมีการลุกไหม้ จะด้วยสาเหตุใดก็ตามหากควบคุมหรือบริหารจัดการไม่ดีพอก็จะทำให้เกิดการลุกลาม พื้นที่หลังจากมีการเผาไหม้ผิวดินจะกลายเป็นสีเทาไปจนถึงดำ เพราะเป็นการลุกลามของ ใบไม้ หรือเศษซากจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ปกคลุมสะสมอยู่บนพื้น จึงทำให้ดินได้รับความร้อนตามไปด้วย เชื้อเพลิงเหล่านี้เมื่อถูกเผาไหม้จะทิ้งคราบเขม่าและเถ้าถ่านสีดำ หากเราลองนำโดรนบินขึ้นไปถ่ายภาพ หรือใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อตรวจสอบพื้นที่หลังเกิดเหตุ จะสามารถสังเกตและจำแนกพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ (Burned Area) ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน

     แต่ในการสำรวจตรวจสอบเพื่อประเมินความเสียหายจะมานั่งแปลตีความด้วยสายตาอย่างเดียวก็คงไม่ไหว เพราะเมื่อเกิดไฟป่าแต่ละครั้งความเสียหายนี่ไม่ใช่น้อยๆ เลยครับ เราจึงมักจะใช้เทคนิคด้านการรับรู้ระยะไกลเข้ามาเป็นตัวช่วยในการตรวจสอบหรือประเมินความเสียหายคร่าวๆ โดยวิธีในการตรวจสอบนั้นค่อนข้างหลากหลาย แต่ในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงเจ้า Normalized Burn Ratio (NBR) หรือ ดัชนีพื้นที่เผาไหม้แบบปกติ และค่าความแตกต่างของดัชนีเชิงคลื่นในวันก่อนและหลังการเกิดไฟ (Difference Normalized Burn Ratio : dNBR) เป็นพิเศษเนื่องจากเป็นดัชนีที่หลายคนนิยมนำมาใช้วิเคราะห์พื้นที่เผาไหม้ด้วยข้อมูลภาพจากดาวเทียม

     Normalized Burn Ratio หรือ NBR เป็นดัชนีที่ออกแบบมาเพื่อเน้นบริเวณที่มีการเผาไหม้ การคำนวณก็จะคล้ายๆ กันกับดัชนีความต่างพืชพรรณ (NDVI) เพียงแต่ NBR จะใช้ช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (NIR) และคลื่นสั้นอินฟราเรด (SWIR) เนื่องจากพืชพรรณที่มีความสมบูรณ์จะมีค่าสะท้อนในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้สูงมากแต่จะมีค่าสะท้อนต่ำในช่วงคลื่นสั้นอินฟราเรด (SWIR) ดังภาพตัวอย่างการสะท้อน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราสามารถจำแนกพื้นที่เผาไหม้ออกจากพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง

ขอบคุณภาพจาก un-spider.org

     โดยสูตรของการคำนวณ คือ NIR – SWIR / NIR + SWIR หากผลลัพธ์มีค่าที่สูงนั่นแสดงถึงพื้นที่ว่างเปล่าหรือเกิดการเผาไหม้เกิดขึ้น ในขณะค่าต่ำหมายถึงพืชมีความแข็งแรงปกติ และนอกจากนั้นยังสามารถใช้ค่าความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังเกิดเพลิงไหม้เพื่อประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์ได้เช่นกัน ด้วยสูตร dNBR (Difference Normalized Burn Ratio) โดยใช้ภาพจาก 2 ช่วงเวลา คือ ภาพก่อนการลุกไหม้และภาพหลังเกิดการลุกไหม้ไปแล้ว ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้หลังการคำนวณจะถูกแบ่งเป็นระดับความรุนแรงของการเผาไหม้ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าพื้นที่ใดที่มีการเผาไหม้ในกรอบเวลาที่เราต้องการศึกษา หรือจะวิเคราะห์หลังการเผาไหม้ไปแล้วว่าพื้นที่นั้นๆ มีการฟื้นฟูมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้และติดตามการฟื้นฟูที่ภูกระดึง

     จากตัวอย่าง เป็นกรณีเกิดไฟไหม้ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2 ในการตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้ ซึ่งช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (NIR) และ คลื่นสั้นอินฟราเรด (SWIR) ของดาวเทียม Sentinel-2 คือแบนด์ที่ 8 และ 12 ตามลำดับ

ขอบคุณภาพจาก un-spider.org

     เพราะปกติแล้วการฟื้นฟูของพื้นที่ป่าจะใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อยในการซ่อมแซมตัวเองด้วยการอาศัยความชุ่มชื้นและน้ำฝนจากธรรมชาติ ในบางแห่งเมื่อฟื้นฟูได้เต็มที่สมบูรณ์พื้นที่เหล่านั้นอาจมีความหนาแน่นของต้นไม้และพืชพรรณเพิ่มขึ้น เนื่องจากความร้อนของไฟทำให้เมล็ดของต้นไม้บางชนิดเจริญเติบโตได้ดี การใช้เทคนิคเหล่านี้จึงมีประโยชน์ในการติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลหากเกิดเหตุการณ์ไฟป่าอย่างเช่นกรณีตัวอย่างนี้

ภาพดัชนีเปรียบเทียบก่อนและหลังการฟื้นฟูของพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้

     ส่วนใหญ่จุดความร้อนและไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นมีที่มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ โดยสาเหตุของการเผาแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ภาคเหนือ ชาวบ้านหรือชาวเขาส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำเกษตรเชิงเดี่ยว จะเผาป่าเพื่อเริ่มทำการเกษตรครั้งใหม่หรือพืชบางชนิดต้องใช้ไฟช่วยในการเจริญเติบโต ทำให้พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าเป็นส่วนมาก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางพบมากในพื้นที่เกษตรกรรมเนื่องจากเกษตรกรมักจะเผาในกิจกรรมการเกษตรไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต

     เมื่อทราบพื้นที่ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะวางแผนบริหารจัดการต่อไปได้ในอนาคต ทราบแนวโน้มและรูปแบบของการเกิดไฟป่าในประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะพัฒนาแผนการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ ประกอบกับในช่วงปลายปี 65 ประเทศไทยจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยความละเอียดสูงของทั้งดาวเทียมหลักและดาวเทียมเล็ก คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อวางแผนและบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที ซึ่งถือเป็น 1 ในภารกิจสำคัญของระบบดังกล่าว ในการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น สามารถที่จะส่งต่อเพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

     ทั้งนี้ GISTDA เองได้ให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของทั้งประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ โดยอาศัยข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS และดาวเทียมระบบ VIIRS ในการรายงาน สนับสนุนข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลภูมิสารสนเทศ เช่น ข้อมูลจุดความร้อนรายวัน (Hot Spot) , พื้นที่เผาไหม้ (Burned Area) ราย 16 วัน และแบบจำลองคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน โดยสามารถเข้าไปใช้งานได้ที่เว็ปไซต์ https://fire.gistda.or.th

#gistda #จิสด้า #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #พื้นที่เผาไหม้ #BurnedArea #ดัชนีNBR #จำแนกพื้นที่เผาไหม้ #dNBR #ไฟป่า #เผาป่า #THEOS2 #HighResolution #ภัยพิบัติ #มองไปกับเป็ด

 

Phapawich Mahamart 9/3/2565 1
Share :