Head GISDTDA

ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่_EEC_ด้วย_AIP_Platform

เราจะเข้าใจพื้นที่ได้อย่างไรหากไม่สามารถมองเห็นภาพรวม การพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นงานที่มีความซับซ้อนหลายมิติ ต้องอาศัยองค์ประกอบข้อมูลจำนวนมากและมีความน่าเชื่อถือเพียงพอในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ในพื้นที่ใดๆ ข้อมูลเชิงพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาบริบทเพื่อพัฒนาพื้นที่ คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าภูมิสารสนเทศคือเครื่องมือสำคัญที่เปรียบเสมือนเลนส์แว่นตาส่องพื้นที่ขนาดใหญ่ และขาดไม่ได้ในกระบวนการวางแผนบริหารจัดการเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังเช่นโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC ที่เป็นต้นแบบในการใช้ประโยชน์ภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน
.
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ EEC เป็นพื้นที่ศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่นำร่องในการนำโมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติ หากแต่ก็มีความซับซ้อนของระบบนิเวศเชิงพื้นที่ในหลายมิติ และบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก็เพียงพอที่จะทำให้การวางแผนพัฒนาครั้งต่อไปของภาคตะวันออกต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
.
#มอง_EEC_ผ่านเลนส์ภูมิสารสนเทศ
.
GISTDA ร่วมกับมูลนิธิเสนาะ อูนากูล และสถาบัน TDRI (Thailand Development Research Institute) ได้ศึกษาและจัดทำ “รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564” เพื่อถอดบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ AIP Platform ในการติดตามการพัฒนาพื้นที่ EEC ขับเคลื่อนแนวคิดการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาเชิงพื้นที่
.
ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เราจะสามารถมองภาพ EEC ในมุมกว้างทั้งในมิติพื้นที่ มิติเวลา รวมไปถึงมิติเชิงภูมิสังคม เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและคาดการณ์ทิศทางที่ดีที่สุดสำหรับฉากทัศน์ในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของพื้นที่ในการลงทุนอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การวางโครงข่ายโลจิสติกส์ สาธารณูปโภค การจัดการความหนาแน่นของโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการของเสียจากอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการรักษาฟื้นฟูทรัพยากร
.
ผลการศึกษาข้อมูลเชิงพื้นที่ของ EEC โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า สภาพภูมิประเทศในพื้นที่ EEC มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีต มีการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นตามบริบทของการพัฒนาเมืองที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก ทำให้ลักษณะทางกายภาพมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยปัญหาที่สำคัญที่สุดคือการจัดการขยะ ทั้งขยะชุมชนและของเสียจากอุตสาหกรรม
.
แน่นอนการพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ ในขณะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สุขภาวะ ความเท่าเทียม และด้านภูมิสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเปราะบางของประเด็นปัญหา จำเป็นต้องวางแผนเชิงนโยบายอย่างรอบด้าน ตัดสินใจบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน
.
#GISTDA_ร่วมขับเคลื่อน_EEC_ด้วย_AIP_Platform
.
GISTDA มีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ (Big Geo-Spatial Data) และพัฒนานวัตกรรมสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ AIP Platform (Actionable Intelligence Policy) ภายใต้โครงการ THEOS-2 เพื่อใช้ในการติดตามการพัฒนาภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยเป็น Platform กลางในการกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล สามารถแสดงปัจจัยที่เกี่ยวข้องและสร้างแบบจำลองเพื่อคาดการณ์สถานะตัวชี้วัดในทุกด้าน เพื่อให้สามารถมองภาพรวมความเชื่อมโยงในพื้นที่และคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลง สามารถทราบทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ที่สามารถรองรับได้ (Carying capacity) และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเท่าเทียม
.
#AIP_สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่_EEC_อย่างไร?
.
ทุกวันนี้ข้อมูลถูกผลิตขึ้นมาจำนวนมหาศาล จากหลากหลายแหล่ง หลากหลายรูปแบบ แน่นอนว่าทุกข้อมูลมีความสำคัญ แต่ปัญหาที่มักพบคือ จะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร?
.
AIP คือระบบอัจฉริยะที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ เป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลให้สามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนให้เกิดประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น เราสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจายมาประมวลผลและวิเคราะห์ สังเคราะห์ร่วมกัน สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา และแนวทางในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย รวมไปถึงข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทรัพยากร งบประมาณ กำลังคน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างตรงจุดมากที่สุด โดยมีตัวชี้วัดที่กำหนดไว้บ่งชี้ให้ทราบถึงผลกระทบต่อประชากรในพื้นที่ และผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานที่สะท้อนสถานการณ์จริงได้อีกด้วย
.
ตัวอย่างเช่น การวางแผนจัดการขยะในพื้นที่ EEC ด้วยข้อมูลที่เพียงพอร่วมกับศักยภาพของระบบ เราจะสามารถทราบได้ว่าโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมมีเพียงพอไหม กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่หรือไม่ เส้นทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการวางโครงข่ายเดินรถเก็บขยะชุมชนในแต่ละตำบลคือเส้นทางใด และหน่วยงานใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานนี้ เป็นต้น เหล่านี้จะทำให้หน่วยงานสามารถวิเคราะห์และวางแผนแนวทางในการกำจัดขยะในพื้นที่ EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงเพื่อวางแผนรับมือได้ ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยหลายพันปัญหาที่สามารถหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานของข้อมูลด้วยระบบ AIP
.
#ก้าวต่อไปของ_AIP_กับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
.
ปัจจุบันทีม GISTDA ได้ทุ่มเทลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำร่องอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่ EEC และพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ ให้ความร่วมมือในการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นและอัพเดทข้อมูลให้มีความทันสมัย ทั้งข้อมูลด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การบริการจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ด้วยระบบ AIP และเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำระบบ AIP ไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #การพัฒนาเชิงพื้นที่ #EEC #เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก #การบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน #นิคมอุตสาหกรรม #ภาคตะวันออก #ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ #การสร้างสมดุล #การรักษาฟื้นฟูทรัพยากร

phakpoom.lao 21/4/2565 845 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง