Head GISDTDA

ระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัต_คุณค่าจากอวกาศเพื่อเกษตรกรไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคการเกษตรของไทยตกอยู่ในภาวะที่ต้องประสบปัญหารอบด้านอยู่ตลอดเวลาในทุกฤดูกาลเพาะปลูก ทั้งจากปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ราคาผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ปัญหาภัยพิบัติ โรคและแมลงศัตรูพืชจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศขาดความมั่นคงทางด้านรายได้ ประสบปัญหาหนี้สิน แต่จะเป็นอย่างไรถ้านวัตกรรมจากอวกาศเข้ามาช่วยให้บรรเทาปัญหาด้วยข้อมูลจากดาวเทียม
.
ปัจจุบันมีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของภาคการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า โดยการจัดเขตพื้นที่เกษตรกรรม (Agro Zoning) และนำระบบการบริหารจัดการเชิงรุกมาใช้ในการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่
.
การจัดเขตพื้นที่เกษตรกรรม คือ การกำหนดพื้นที่การผลิตทางการเกษตรออกเป็นกลุ่ม โดยใช้เกณฑ์แบ่งเขตจากชนิดของดิน น้ำฝน การบริหารจัดการน้ำ ต้นทุนการผลิตและรายได้หลักของเกษตรกร เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาการเกษตรในระยะยาว ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
.
นอกจากนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนการพัฒนาเป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) การจัดการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต วัตถุดิบและทรัพยากร ช่วยลดความสูญเสียและต้นทุนการผลิต เตรียมพร้อมการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งพัฒนาด้านเกษตรกรรมให้สามารถสร้างผลผลิตได้อย่างยั่งยืน
.
ข้อมูลจากดาวเทียมมีศักยภาพในด้านการเป็นแหล่งข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งปกคลุมพื้นผิวโลกและข้อมูลสภาพอากาศ อีกทั้งจำนวนดาวเทียมสำรวจโลกที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันยิ่งทำให้การถ่ายภาพโลกมีความถี่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวข้อมูลมีความทันสมัยใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอยู่ทุกช่วงเวลาหรือที่เรียกว่า “ระบบพลวัต” ซึ่งเกษตรกรรมก็เป็นระบบพลวัตหนึ่งของโลก ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
.
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา GISTDA ได้นำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาปรับใช้กับภาคการเกษตรจนเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเพื่อการบริการที่ก้าวไปอีกขั้น “ระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัต” จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ผสมผสานกับฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ (Geospatial Big Data) นำข้อมูลปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการทำเกษตรกรรมวิเคราะห์หาศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดของแต่ละฤดูกาล และติดตามการเจริญเติบโตของพืชอย่างใกล้ชิด โดยระบบดังกล่าวมีจุดแข็งในเรื่องของข้อมูลที่ทันสมัย มีความเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดและยังสามารถระบุตำแหน่งของพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ
.
แนวความคิดพื้นฐานของการพัฒนา “ระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัต” เพื่อช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและเกษตรกร มีฐานข้อมูลการเพาะปลูกเชิงพื้นที่ที่ทันสมัยและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเมื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาคการเกษตรอย่างเหมาะสมและเป็นระบบมากขึ้น มีความเข้าใจที่ตรงกัน ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตความเหมาะสมของพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชก่อนเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล การติดตาม วิเคราะห์สภาพของพืชในระหว่างการเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต
.
การทำงานของ “ระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัต” จะเชื่อมโยงข้อมูลทั้งเชิงกายภาพ (พืช น้ำ ดิน อากาศ ภัยพิบัติ) ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ และองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม มาอยู่ในรูปแบบของฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ (Geospatial Big Data) เพื่อทำการวิเคราะห์หาขอบเขตความเหมาะสมของพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชสำคัญของประเทศไทยรายฤดูกาล เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย
.
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับ “ระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัต” คือมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับข้อมูลสภาพอากาศในระดับภูมิภาค เพื่อนำมาพยากรณ์สภาพอากาศที่อาจจะส่งผลกระทบในระหว่างฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ในระหว่างที่เกษตรทำการเพาะปลูกจะมีการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์พื้นที่ปลูก รวมถึงการติดตามสุขภาพและความสมบูรณ์ของพืชตลอดการเพาะปลูกจนกระทั่งมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต
.
ข้อมูลจากระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัต จะมีประโยชน์ในการกำหนดทิศทางและนโยบายที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรไทยมีข้อมูลที่เป็นพลวัติในการประกอบการตัดสินใจที่เท่าทันสถานการณ์และเหมาะสม ทั้งในเชิงพื้นที่และบริบททางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้บริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
.
ระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัตกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2565 ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสามารถช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถวางแผนการผลิตและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งในเชิงเวลาและเชิงพื้นที่ ลดปัจจัยที่อาจจะนำสู่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่ผ่านมา ยกระดับไปสู่เกษตรแม่นยำหรือ precision agriculture ได้อย่างแท้จริง และท้ายที่สุดช่วยให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยคุณค่าจากอวกาศ
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #ระบบจัดการพื้นที่เกษตรแบบพลวัต #แก้ไขปัญหาเกษตรกร #นวัตกรรมอวกาศเพื่อการเกษตร #ผลผลิตล้นตลาด #การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ #การจัดเขตพื้นที่เกษตรกรรม #เกษตรอัจฉริยะ #การเกษตรแม่นยำ 

 

phakpoom.lao 3/5/2565 2228 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง