Head GISDTDA

Small_Satellite เทรนด์ดาวเทียมรูปแบบใหม่ที่น่าจับตา

#Small_Satellite_เทรนด์ดาวเทียมรูปแบบใหม่ที่น่าจับตา
.
อุตสาหกรรมดาวเทียมอยู่ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศ โดยมีเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเป็นส่วนมาก ส่งผลให้ดาวเทียมในวงโคจรมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรต่ำ ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคพื้นดินที่มีการพัฒนาต่อยอดจำนวนมาก เป็นวิวัฒนาการที่น่าจับตาทีเดียว
.
ในยุคแรกของอุตสาหกรรมอวกาศ เราจะพบว่าทั่วโลกมุ่งเน้นการพัฒนาดาวเทียมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ประเภทวงโคจรประจำที่ หรือ Geostationary Satellite Orbit (GSO) และส่งขึ้นไปที่วงโคจร Geostationary Orbit (Geo) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วงโคจรค้างฟ้า” แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมอวกาศในยุคปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การลงทุนในธุรกิจบริการที่เกิดจากดาวเทียมเล็ก (Small Satellite) ประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ Non-Geostationary Satellite Orbit (NGSO) มากขึ้น
.
#ดาวเทียมเล็กน่าสนใจอย่างไร?
.
ดาวเทียมเล็กประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ Non-Geostationary Satellite Orbit (NGSO) เป็นดาวเทียมที่มีน้ำหนักไม่เกิน 500 กิโลกรัม โคจรในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) และวงโคจรปานกลาง (Medium Earth Orbit) ประเภทการใช้งานมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมนำร่อง ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things-IoT) ดาวเทียมให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เป็นต้น
.
ดาวเทียมเล็กมีต้นทุนในการพัฒนาที่ต่ำลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ส่งผลให้มีการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะในวงโคจรต่ำ (LEO) ซึ่งมีระยะห่างระหว่างดาวเทียมกับภาคพื้นดินสั้นกว่า ทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคพื้นดินได้มากขึ้น ดึงดูดกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการ Start-Up ให้เกิดการลงทุนและพัฒนาบริการดาวเทียมเชิงพาณิชย์ในรูปแบบใหม่มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากขึ้นและค่าบริการถูกลง ยังประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการและภาพรวมของประเทศ
.
#การเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมเล็ก
.
อุตสาหกรรมดาวเทียมขนาดเล็กประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) เติบโตอย่างรวดเร็วในห้วงเวลาที่ผ่านมา จากรายงาน Small Satellite Market Intelligence Report Q1 2021 ของประเทศอังกฤษ พบว่าในปี 2020 มีดาวเทียม NGSO ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรจำนวนมาก เป็นดาวเทียมสื่อสารมากที่สุดถึงเกือบ 1,000 ดวง ตามมาด้วยดาวเทียมสํารวจทรัพยากร ประมาณ 100 ดวง ซึ่งเพียงไตรมาสแรกของปี 2021 มีดาวเทียมสื่อสารขนาดเล็กถูกนำขึ้นสู่วงโคจรมากถึงกว่า 600 ดวง นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับห้วง 10 ที่ผ่านมา
.
การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม NGSO กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในกิจการอวกาศของโลก ด้วยข้อได้เปรียบทั้งในด้านกระบวนการผลิต งบประมาณ และรูปแบบการใช้งานที่ยืดหยุ่น อีกทั้งสามารคิดค้นนวัตกรรมต่อยอดสนับสนุนการใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบ ภาคธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงการผลิตดาวเทียมเล็กและวงโคจรต่ำได้ง่ายขึ้น นับว่าเป็นอีกก้าวของการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่น่าจับตา และอาจสามารถนำมาใช้ทดแทนดาวเทียมสื่อสารประเภทวงโคจรคงที่ เพื่อลดงบประมาณของประเทศ และขยายช่องทางการเข้าถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ได้มากขึ้น
.
#ประเทศไทยกับการพัฒนาดาวเทียมเล็ก
.
ทิศทางการดำเนินกิจการอวกาศของประเทศไทยอยู่ในห้วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม ฝึกทักษะแรงงานขั้นสูงเพื่อพัฒนาดาวเทียม พัฒนาชิ้นส่วนดาวเทียม พัฒนาระบบภาคพื้นดิน/ระบบนำส่ง สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศในการได้มาซึ่งมูลค่าเพิ่มจากการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เกิดเป็นระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศในประเทศ
.
ในส่วนของการใช้ประโยชน์ดาวเทียมเล็ก ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในให้บริการในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และอยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แนวทางการอนุญาตกำกับดูแล และแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมในให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ของประเทศไทย
.
GISTDA ได้ดำเนินการพัฒนาดาวเทียมเล็ก ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลก ภายใต้โครงการ THEOS-2 SmallSAT ซึ่งวิศวกรดาวเทียมของประเทศไทยมีส่วนสำคัญในออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดย SmallSAT หรือดาวเทียม Theos-2A มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายนอกเหนือไปจากการทำงานของดาวเทียมดวงหลัก หรือดาวเทียม Theos-2 สามารถชี้เป้าเฉพาะพื้นที่ที่สนใจและปรับองศาดาวเทียมเพื่อทำข้อมูลประเภท 3 มิติ ได้ และยังสามารถติดตามพิกัดของเรือและเครื่องบินได้อย่างแม่นยำ
.
นอกจากนี้ GISTDA ได้ดำเนินการฝึกอบรมการพัฒนาดาวเทียมดวงเล็กและระบบภาคพื้นดินให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเผยแพร่และต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ส่งต่อทักษะความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรไทย มุ่งมั่นให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยต่อไป
.
ปัจจุบันดาวเทียม THEOS-2A ดาวเทียมเล็กสัญชาติไทยและสร้างโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยมาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2019 ได้ทำการประกอบและทดสอบแล้วเสร็จ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีกำหนดส่งมาทดสอบเพิ่มเติมที่ศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียม (Assembly integration and testing : AIT) ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในเดือนมิถุนายน ก่อนจะส่งขึ้นสู่วงโคจรภายในปี 2565 ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการ THEOS-2 ได้ที่ Facebook Fanpage ของ GISTDA ที่จะอัพเดตความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะ

phasaphong.tha 6/5/2565 2322 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง