Head GISDTDA

การประชุมคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติครั้งที่ 1/2565

9 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 สป.อว. นายดอน ปรมัติวนัย รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งคณะกรรมการฯ หรือ กภช. มีหน้าที่กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ กำหนดมาตรฐานกลางด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศ บูรณาการและจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ จัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมถึงบูรณาการแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศและการบริหารจัดกรระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ที่ประชุมวันนี้ได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานด้านภูมิสารสนเทศของประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น คณะกรรมการได้รวบรวมชุดข้อมูลภูมิศาสตร์พื้นฐาน (FGDS) ครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อรองรับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ของจังหวัด จัดทำมาตรฐานการสำรวจด้วยค่าพิกัดด้วยระบบดาวเทียม (Global Navigation Satellite System : GNSS) รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการจัดทำกรอบแผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ปี 2566 – 2570 เป็นต้น
โดย กภช. ได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การให้บริการข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องผ่านศูนย์ข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ (National CORS Data Center : NCDC) ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลจากสถานีอ้างอิงของหน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมแผนที่ทหาร กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ GISTDA โดยข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการที่จะทำให้ได้ข้อมูลค่าพิกัดที่มีความถูกต้องสูงมาก สำหรับไปใช้ประโยชน์ในด้านงานสำรวจ การทำแผนที่ งานด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การคมนาคมซึ่งรวมถึงเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ และการรองรับงานเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยในระยะแรกจะมีการให้บริการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้เกิดการขยายผลการใช้งานและให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้าน Location Based Service 

นอกจากนี้ กภช. ยังเห็นชอบในหลักการโครงการสำคัญด้านภูมิสารสนเทศ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสำรวจอุทกศาสตร์เพื่อกำหนดเส้นฐานปกติของประเทศไทย (2) โครงการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และ (3) โครงการการบำรุงรักษาระบบข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ (National CORS Data Center : NCDC) และระบบ/สถานี CORS โดยทั้ง 3 โครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เช่น ให้ข้อมูลแสดงพิกัดมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น  ขจัดปัญหาทับซ้อนของการกำหนดแนวเขต ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทางทะเล การแก้ไขปัญหาที่ดินบริเวณชายฝั่ง การวางแผนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ของกลุ่มชุมชนโบราณ เมืองโบราณ และแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ ลดความขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานรัฐ และประชาชน ลดงบประมาณในการสำรวจเชิงพื้นที่ รวมถึง การบูรณาการเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณของประเทศ

phakpoom.lao 9/5/2565 0
Share :