Head GISDTDA

อัพเดทดาวเทียมสำรวจโลก 2565

อัพเดทดาวเทียมสำรวจโลก 2565

.

นับตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 1957 หรือ พ.ศ. 2500 ที่มนุษยชาติรู้จักการส่งดาวเทียมออกนอกโลก ครั้งนั้นเป็นการส่งดาวเทียม Sputnik 1 และ 2 โดยสหภาพโซเวียตภายในปีเดียวกัน ต่อมาต้นปี ค.ศ. 1958 ทางอเมริกาได้ส่ง Explorer-1 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศตามไปติดๆ หลังจากนั้นมนุษย์เราก็ได้นำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่องทุกปี จนกระทั่งในปี พ.ศ.2563 และ 2564 คาดว่ามีดาวเทียมที่อยู่ในสถานะ active ที่กำลังโคจรรอบโลกประมาณ 3,291 ดวง และ 4,877 ดวง ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 

.

หากโฟกัสมาที่กลุ่มดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite) โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของ Union of Concerned Scientists (UCS) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ระบุว่ากลุ่มดาวเทียมสำรวจฯ จากทุกประเทศรวมกันที่กำลังโคจรในห้วงอวกาศและยังคงสามารถทำงานตามภารกิจได้ตามปกติมีจำนวน 1,052 ดวง เพิ่มขึ้น 8.34% จากเดือนเมษายน 2564 ที่ขณะนั้นมีดาวเทียมสำรวจฯ 971 ดวง นั่นหมายถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 10% ด้วยระยะเวลาเพียง 8 เดือน 

.

ดาวเทียมสำรวจฯ จำนวน 1,052 ดวง แบ่งตามภารกิจหรือประเภทของเซนเซอร์ก็จะแบ่งได้เป็น

  • ดาวเทียมระบบออพติคัล (Optical Imaging)  426 ดวง 

  • ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorology) 170 ดวง

  • ดาวเทียมระบบ Electronic intelligence 113 ดวง

  • ดาวเทียมระบบเรดาร์ (Radar imaging) 90 ดวง

  • ดาวเทียมสำรวจโลก (ไม่ระบุรายละเอียด) 79 ดวง

  • ดาวเทียมเพื่อการศึกษา Earth Science 75 ดวง

  • ดาวเทียมระบบ Hyperspectral หรือ Multispectral 41 ดวง

  • ดาวเทียมระบบ Automatic Identification System (AIS)  19 ดวง

  • ดาวเทียมเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ 17 ดวง 

  • ดาวเทียมถ่ายภาพอินฟาเรด 12 ดวง

  • ดาวเทียมสำหรับถ่ายภาพเคลื่อนไหว 10 ดวง 

.

จะเห็นได้ว่าในกลุ่มดาวเทียมสำรวจฯ มีดาวเทียมในระบบออพติคัลหรือดาวเทียมที่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ในการถ่ายภาพ เช่น ดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียม Landsat ดาวเทียม Sentinel-2 เป็นต้น  คิดเป็น 40% ตามมาด้วยดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา 16% ในขณะที่ดาวเทียมระบบเรดาร์ที่มีประโยชน์อย่างมากในการถ่ายพื้นที่น้ำท่วม คิดเป็น 8.5% 

.

สำหรับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของดาวเทียม มีจำนวนทั้งหมด 219 หน่วยงานจากทั่วโลกที่มีการครอบครองดาวเทียมสำรวจฯ ในจำนวนที่แตกต่างกันไป แบ่งเป็น 

  • 115 หน่วยงานที่ครอบครองดาวเทียม 1 ดวง

  • 41 หน่วยงานครอบครองดาวเทียม 2 ดวง 

  • 12 หน่วยงานครอบครองดาวเทียม 3 ดวง 

  • 9 หน่วยงานครอบครองดาวเทียม 4 ดวง 

ที่เหลือเกือบ 55% ของดาวเทียวสำรวจฯทั้งหมด ครอบครองโดยกลุ่มหน่วยงานดังต่อไปนี้ 

  • Planet Labs Inc มี 188 ดวง

  • Spire Global Inc มี 119 ดวง

  • Chinese Ministry of National Defense มี 85 ดวง

  • America’s National Reconnaissance Office (NRO) มี 44 ดวง

  • Chang Guang Satellite Technology Co. Ltd. มี 29 ดวง

  • Russia’s Ministry of Defense มี 21 ดวง

  • Satellogic S.A. มี 20 ดวง

  • China National Academy of Sciences (CNSAS) มี 17 ดวง

  • Indian Space Research Organization (ISRO) มี 17 ดวง

  • BlackSky Global มี 12 ดวง

  • EUMETSAT (European Organization for the Exploitation of Meteorological Satellites) มี 12 ดวง

  • ICEYE Ltd. มี 12 ดวง

.

อีกด้านหนึ่งหากเรามาดูการถือครองโดยแบ่งตามประเทศโดยดูจากรายชื่อองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับดาวเทียมทั่วโลกมีจำนวน 70 ประเทศที่มีดาวเทียมในครอบครอง และไม่แปลกใจนักที่สหรัฐจะอยู่แนวหน้าในการควบคุมดาวเทียมสำรวจฯคิดเป็น 43% ของดาวเทียมสำรวจฯทั้งหมด ตามมาด้วยประเทศจีนเป็นชาติในลำดับที่ 2 ที่มีดาวเทียมสำรวจฯในครอบครองคิดเป็น 25% ซึ่งจำนวนดาวเทียมสัญชาติสหรัฐและจีนเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 2 ใน 3 ของดาวเทียมสำรวจฯทั้งหมดที่อยู่ในสถานะ Active 

.

สำหรับกลุ่มประเทศที่มีดาวเทียมสำรวจฯ มากกว่า 10 ดวง ได้แก่ อเมริกา 451 ดวง, จีน 261 ดวง, รัสเซีย 37 ดวง, ญี่ปุ่น 35 ดวง, อินเดีย 23 ดวง, อาเจนตินา 22 ดวง, สหภาพยุโรป (หลายประเทศ) 20 ดวง, ฝรั่งเศส 15 ดวง, ฟินแลนด์ 13 ดวง, เยอรมนี 11 ดวง และไต้หวัน(ภายใต้ความร่วมมือกับอเมริกา) 11 ดวง

.

ในภาคส่วนของผู้ใช้งาน ดาวเทียมสำรวจฯ จำนวน 495 ดวง รองรับกลุ่มผู้ใช้งานจากหน่วยงานเชิงพาณิชย์หรือภาคเอกชน, 310 ดวง รองรับการใช้งานจากหน่วยงานภาครัฐ, 220 ดวงรองรับกลุ่มผู้ใช้งานจากหน่วยงานทางการทหาร และ 27 ดวง รอบรับการใช้งานจากพลเรือน ทั้งนี้ดาวเทียมบางดวงสามารถรองรับผู้ใช้งานได้หลายกลุ่ม 

.

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของดาวเทียมสำรวจฯมีแนวโน้มลดลงอ้างอิงจากข้อมูลผ่านมา แต่ยังมีการเติบโตของดาวเทียม hyperspectral ดาวเทียมเรดาร์ และดาวเทียมสำหรับถ่ายภาพเคลื่อนไหว คาดว่าจะมีความโดดเด่นมากขึ้นในปีถัดไป 

.

ข้อมูลสถิติเหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันถึงความหลากหลายของข้อมูลจากดาวเทียมที่มีให้บริการในปัจจุบันและการกระจายตัวของข้อมูลตามประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้อมูลจากดาวเทียมเป็นข้อมูลสำคัญที่สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่างๆในลักษณะเชิงพื้นที่ รวมไปถึงเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เช่น แผนที่ออนไลน์ แอพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศ การติดตามผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนมากจะมีดาวเทียมสำรวจฯไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ

.

สำหรับประเทศไทย ด้วยโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาหรือธีออส-2 นอกจากจะเป็นการยกระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาในประเทศแล้ว ยังจะทำให้ประเทศไทยมีดาวเทียมสำรวจฯเพิ่มขึ้นอีก 2 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมหลัก 1 ดวง มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจร พ.ศ.2566 และดาวเทียมดวงเล็ก (small satellite) อีก 1 ดวง ที่มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรกลางปี 2565  อีกทั้งมีทีมวิศวกรไทยที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านอวกาศจากองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างกำลังคนไว้รองรับการพัฒนาด้านอวกาศ ทำให้อนาคตประเทศไทยสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการต่างๆด้านอวกาศได้ไม่ยากอีกต่อไป 

.

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #ดาวเทียมสำรวจโลก #ดาวเทียม #ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาก #เรดาร์ #optical #ธีออส #Theos #วิศวกรอวกาศ 

 

phakpoom.lao 10/5/2565 4055 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง