Head GISDTDA

GISTDA เตรียมพร้อม ปรับโฉมการบริการข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ที่รวดเร็ว แม่นยำและเข้าถึงสะดวก

GISTDA เตรียมพร้อม ปรับโฉมการบริการข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ที่รวดเร็ว แม่นยำและเข้าถึงสะดวก

.

ภัยแล้งคือภัยธรรมชาติที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำเป็นระยะเวลานาน เป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการดำรงชีวิตทั้งคนและสัตว์  ส่งผลให้ขาดแคลนผลผลิตด้านการเกษตร การประกอบการด้านอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักเพราะขาดแคลนน้ำใช้ในการขบวนการผลิต ท้ายที่สุดแล้วสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ปัจจุบันข้อมูลจากดาวเทียมที่มีการบันทึกข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่องจากห้วงอวกาศ สามารถรับรู้แนวโน้มสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในแต่ละพื้นที่ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น แต่ทว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นต่อมาคือการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและความเข้าใจต่อข้อมูลของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน GISTDA และพันธมิตรอยู่ในระหว่างดำเนินการเร่งแก้ไขจุดดังกล่าวที่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการร่วมมือกันบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 

.

ผลกระทบจากภัยแล้ง

.

ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ทั้งภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งปกติและภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยทั้ง 2 ช่วงเวลาที่เกิดภัยแล้งขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ทั้งประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และประชาชนในภาคเกษตรกรรมหรือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่จะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัด ระบบชลประทานไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้การช่วยเหลือไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงทีและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

.

จากห้วงอวกาศสู่พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 

.

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรอาศัยหลักการบันทึกข้นมูลจากการสะท้อนของรังสีที่ตกกระทบพื้นผิวโลกและสะท้อนสู่เซนเซอร์ดาวเทียมในสัดส่วนที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ที่ตกกระทบ ทำให้นักภูมิสารสนเทศสามารถสกัดข้อมูลความสมบูรณ์ของพืชพรรณหรือต้นไม้ ความชื้นในดิน ปริมาณแหล่งน้ำ และอุณหภูมิพื้นผิวโลกจากภาพถ่ายดาวเทียมได้ไม่ยากผ่านการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมด้านภูมิสารสนเทศ  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราทราบถึงแนวโน้มของสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละพื้นที่

.

ดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง (Drought Risk Index: DRI) เป็นชุดข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ได้มาจากการคำนวณร่วมกันระหว่างข้อมูลที่สกัดจากภาพถ่ายจากดาวเทียม เช่น ดัชนีพืชพรรณ (Normalized Difference Vegetation Index : NDVI), ดัชนีความแตกต่างความชื้น (Normalized Difference Water Index : NDWI), ดัชนีเงื่อนไขอุณหภูมิ (Temperature Condition Index : TCI), ดัชนีเงื่อนไขพืชพรรณ (The Vegetation Condition Index : VCI), ดัชนีความชื้นในดิน (Soil Moisture Index) ทั้งหมดล้วนเป็นข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง

.

การใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการสร้างดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง (DRI) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย GISTDA  ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและให้บริการผ่านระบบบริการออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมาโดยตลอด ได้ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาภัย มีข้อมูลเชิงพื้นที่เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการได้มากขึ้น ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำ การทำฝนหลวง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร

.

การพัฒนาใหม่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดียิ่งขึ้น

.

ปัจจุบัน GISTDA อยู่ในระหว่างการพัฒนาแบบจำลองเพื่อประมวลผลดัชนีต่างๆจากภาพดาวเทียมทั้งจากระบบ Passive ที่เราคุ้นเคยกันดีและจากระบบ Active หรือข้อมูล SAR ที่มีความสัมพันธ์กับภัยแล้งและมีจุดเด่นคือบันทึกข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีเมฆเป็นอุปสรรค์ในการถ่ายภาพ มาใช้ร่วมในการวิเคราะห์หาดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

.

นอกจากนั้นไม่เพียงค่าดัชนีต่างๆที่สกัดจากภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA ยังนำข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาและข้อมูลจากสถานีตรวจวัดภาคพื้นดินที่ GISTDA ดำเนินการติดตั้งกระจายทั่วประเทศจำนวนกว่า 40 สถานี  มาวิเคราะห์ร่วมกันและคำนวณเป็นดัชนีภัยแล้ง (Drought Index) ที่สามารถบ่งชี้สภาวะภัยแล้งให้มีความถูกต้องมากขึ้นและมีความละเอียดเชิงพื้นที่ที่ดียิ่งขึ้น นับว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับการพัฒนาการในครั้งนี้

.

สร้างระบบให้เข้าถึงง่ายและสะดวกขึ้น

.

ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจะมีให้บริการผ่านเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและดาวน์โหลดข้อมูลสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติม ขณะเดียวกันการเข้าถึงด้วยแอพลิเคชั่นบนมือถือจะทำให้ผู้ใช้จากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น 

.

การสร้าง platform ที่หลากหลายเพื่อการเข้าถึงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ข้อมูลได้ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ และระดับพื้นที่ ในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ได้ทันต่อสถานการณ์

.

มอบคุณค่าจากนวัตกรรมอวกาศสู่สังคม

.

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะทำให้หน่วยงานระดับนโยบายและหน่วยบริหารจัดการน้ำภาคการเกษตร รวมถึงภาคประชาชน มองเห็นสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เป็นภาพเดียวกัน หน่วยงานสามารถนำไปประกอบการกำหนดทิศทาง การกระจายน้ำเพื่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งทั้งในสภาวะวิกฤติและสภาวะปกติ โดยสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านภัยแล้งได้ล่วงหน้าและอย่างทันท่วงที สามารถลดความเสียหายของพืชในพื้นที่เกษตร รวมไปถึงเกษตรกรก็จะได้รับการช่วยเหลือ ได้รับการสนับสนุนที่สอดคล้องกับผลกระทบที่ได้รับอย่างรวดเร็วและทันการณ์ 

.

สำหรับทางฝั่งประชาชน เป็นแหล่งข้อมูลสร้างความเข้าใจและรู้ทันสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ของตน เพื่อเตรียมการรับมือเบื้องต้น ป้องกันผลกระทบต่อภาคการเกษตร ประสานงานกับภาครัฐเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการบรรเทาสถานการณ์ บนพื้นฐานข้อมูลเดียวกันและความเข้าใจที่ตรงกัน  แม้ว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งจะไม่รุนแรงแต่การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อในยามฉุกเฉินเราจะยังสามารถรับมือและป้องกันความเสียหายได้อย่างทันท่วงที ซึ่งคาดว่าแอพลิเคชั่นจะพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดตัวเร็วๆนี้ 

.

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #ภัยแล้ง #ภัยธรรมชาติ #ขาดแคลนน้ำ #ขาดแคลนผลผลิตด้านการเกษตร #เศรษฐกิจ #ชลประทาน #ดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง #บรรเทา #สนับสนุนการตัดสินใจ

 

phakpoom.lao 10/5/2565 2749 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง