Head GISDTDA

“อวกาศ" ขุมทรัพย์ใหม่แห่งเศรษฐกิจอนาคต

อวกาศขุมทรัพย์ใหม่แห่งเศรษฐกิจอนาคต

.

ไม่ได้มีเพียง อีลอน มัสก์ เท่านั้น ที่สามารถสร้างธุรกิจใน “อวกาศ” ได้ และ “ธุรกิจอวกาศ” ก็ไม่ใช่เพียงการส่งยานออกไปนอกโลก หากแต่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด วันนี้เราจะพาทุกคนเปิดโลกเศรษฐกิจอวกาศไปด้วยกัน

.

#เปิดโลกเศรษฐกิจอวกาศ

.

เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่มนุษย์ได้ทิ้งรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์ จากภารกิจสำรวจอวกาศในอดีตที่เน้นเปิดประสบการณ์ภายนอกโลก วิวัฒนาการสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศในปัจจุบัน ที่องค์ความรู้จากนอกโลกสามารถสร้างขุมทรัพย์ให้แก่มนุษยชาติ เป็นอำนาจทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมูลค่ามหาศาลที่หลายประเทศกำลังมุ่งแสวงหาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

.

พัฒนาการที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอวกาศในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ผลักดันให้เศรษฐกิจอวกาศของโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว และบ่งชี้ให้เห็นว่ากิจการอวกาศไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจการของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่ภาคธุรกิจในเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการของสังคมในชีวิตประจำวันได้

.

โดยจากข้อมูลของ Space Foundation ขนาดของอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 447 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะพุ่งไปถึง 1 - 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 โดยเป็นกิจการในเชิงธุรกิจมากถึงเกือบร้อยละ 80 ของกิจการอวกาศทั้งหมด และสถิติที่น่าสนใจคือ แม้ว่าจะอยู่ในห้วงเวลาของการหดตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคระบาด แต่เศรษฐกิจอวกาศก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

.

ระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศในปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจหลายประเภท โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา (R&D) การสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ดาวเทียม สถานีภาคพื้นดิน อาคารผลิตและประกอบดาวเทียม ท่าอวกาศยาน (Spaceport) สำหรับนำส่งดาวเทียม เป็นต้น เพื่อดึงดูดภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาท ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ ๆ ป้อนสู่ท้องตลาด เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

.

#รู้จักเศรษฐกิจอวกาศให้มากขึ้น

.

หลายคนอาจยังมองภาพไม่ออกว่า “เศรษฐกิจอวกาศ” ในรูปแบบใกล้ตัวเราเป็นแบบไหนบ้าง วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับระบบนิเวศของเศรษฐกิจอวกาศในหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำ (Downstream and wider space economy) ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม

.

อุตสาหกรรมอวกาศในระดับ Upstream คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีอวกาศ ไม่ว่าจะเป็น ระบบและบริการออกแบบและผลิตดาวเทียม การขนส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ การสำรวจและวิจัยในอวกาศ รวมถึงสถานีควบคุมภาคพื้นดิน โดยส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐ ทำให้ต้นทุนต่ำลง เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงบริการเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรม Upstream กำลังขยายขอบเขตไปสู่ธุรกิจอนาคต อย่างการทำเหมืองแร่หรือพื้นที่เกษตรกรรมในดาวเคราะห์ดวงอื่น การตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์ และการท่องเที่ยวในอวกาศ

.

ในส่วนของอุตสาหกรรมอวกาศในระดับ Downstream หรือผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เป็นส่วนที่ใกล้ชิดกับผู้คนมากที่สุด เพราะเราใช้ประโยชน์จากหลายบริการในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว โดยนอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากบริการอินเทอร์เน็ตและสัญญาณดาวเทียมเพื่อการสื่อสารความเร็วสูงโดยตรงแล้ว ข้อมูลจากดาวเทียมยังนำไปสู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบแผนที่นำทาง ที่ใช้ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ อย่างการสั่งอาหารแบบ Delivery การติดตามการขนส่งพัสดุไปรษณีย์ หรือระบบตรวจสอบสภาพอากาศที่เราเปิดดูกันอยู่เสมอ

.

จะเห็นได้ว่า “อวกาศ” ใช่เพียงเป็นเรื่องของสิ่งที่อยู่นอกโลกเสมอ นอกจากบริการในชีวิตประจำวันที่เราคุ้นเคยแล้ว หลายภาคส่วนมีการริเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโดยนำเอาเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไร้คนขับ การทำแปลงเกษตรอัจฉริยะ การวางแผนเส้นทางโลจิสติกส์ การวางแผนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ การพัฒนาระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) หรือบางคนอาจเรียกว่าการแพทย์ทางไกล การวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ในธุรกิจประกันภัย รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการช่วยเหลือในยามเกิดภัยธรรมชาติ

.

#ประเทศไทยอยู่จุดไหนในอุตสาหกรรมอวกาศ

.

กิจการด้านอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย ประกอบด้วยส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างการขนส่งทางอวกาศ ระบบรับสัญญาณภาคพื้นดิน การผลิตอากาศยาน ด้านการศึกษาวิจัย และฟังก์ชันที่เกี่ยวเนื่องจากสัญญาณดาวเทียม ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบบรอดแคสต์ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้ในกิจการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอากาศยาน Wi-fi บนเครื่องบิน ดาวเทียมเพื่อการสำรวจและจัดทำแผนที่ การติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศ การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ การป้องกันประเทศ ดาวเทียมทางการทหาร การบริหารจัดการการจราจรในอวกาศ รวมถึงการทดลองทางอวกาศที่กำลังเริ่มดำเนินการ

.

ข้อมูลจากการศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทย (โดย NIDA) พบว่ามีธุรกิจและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอวกาศกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐให้การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในด้านระบบนิเวศ (Ecosystem) และกฎหมายอวกาศ (Space Law)

.

#GISTDA_เดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

.

GISTDA ในฐานะหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย มุ่งดำเนินนโยบายพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมอวกาศ ทั้งดาวเทียม ระบบข้อมูล ระบบสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านวิยาการอวกาศ

.

นอกจากนี้ การพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมผู้ประกอบการ Startup ด้านกิจการอวกาศให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เป็นอีกหนึ่งบทบาทของ GISTDA ร่วมกับภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีองค์ความรู้ในเชิงลึก และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ป้อนสู่ตลาดและขยายผลไปสู่ระดับสากล สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

.

ข่าวดี! สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีอวกาศ เตรียมพร้อมสำหรับการสร้าง “ธุรกิจอวกาศ” ในอนาคตอันใกล้ สามารถสมัครเข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตร “Space Engineering” มิติใหม่ในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศในหลักสูตรสุดเข้มข้น สอนโดยวิทยากรมากประสบการณ์ ที่ GISTDA ที่แรกและที่เดียวเท่านั้น! โดยจะมีกำหนดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 15 - 19 สิงหาคม 2565 ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ GISTDA อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี (รายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่: http://training.gistda.or.th)

.

พรมแดนอวกาศกลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น แม้วันนี้จะยังไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่เราสามารถใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันได้ ในห้วงเวลาที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจอวกาศทั่วโลกกำลังเข้มข้น ผู้แสวงหาประโยชน์จากอวกาศได้มากย่อมได้เปรียบเสมอ GISTDA ขอเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศสู่การเป็น “เศรษฐกิจแห่งอนาคต” ของประเทศ

.

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอวกาศ #เทคโนโลยี #ดาวเทียม #ท่าอวกาศยาน #อุตสาหกรรมอวกาศ

 

 

phakpoom.lao 16/6/2565 1654 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง