Head GISDTDA

“ขยะอวกาศ” ภัยคุกคามที่ต้องจับตา

#ขยะอวกาศ” #ภัยคุกคามที่ต้องจับตา
.
ห้วงเวลาที่พัฒนาการของเทคโนโลยีอวกาศเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันมนุษยชาติก็กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในการจัดการความเสี่ยงนอกโลกจากการมีอยู่อย่างมหาศาลของ “ขยะอวกาศ”
.
#ขยะอวกาศ (#Space #debris หรือ #Space #junk)
.
คือวัตถุที่โคจรอยู่ในวงโคจรอวกาศรอบโลกโดยไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งาน ยานอวกาศที่ปลดระวางแล้ว ชิ้นส่วนที่ถูกสลัดทิ้งระหว่างภารกิจขึ้นสู่อวกาศ รวมไปถึงเศษซากชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นจากการชนกันหรือการบุสลายของวัตถุอวกาศ สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อการดำเนินการบนห้วงอวกาศในหลายด้าน เป็นความเสี่ยงและภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
.
ทรัพยากรไร้เขตแดนที่สร้างโอกาสและขุมทรัพย์ให้กับมนุษย์มากมายอย่าง ”วงโคจรอวกาศ” วันนี้คับคั่งไปด้วยการจราจรอย่างไร้ทิศทางของชิ้นส่วนขยะอวกาศที่ลอยเคว้งมานานนับสิบปี ข้อมูลจากรายงาน Space Environment ปี ค.ศ. 2021 ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรือ ESA ได้เปิดเผยสถานการณ์ขยะอวกาศในปัจจุบัน มาดูกันว่ามีประเด็นใดบ้างที่น่าติดตาม
.
#ดาวเทียมถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศมากเป็นประวัติการณ์
.
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งกิจการอวกาศทั่วโลก (New Space) มีการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศจำนวนมาก โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ จากความต้องการใช้ประโยชน์ข้อมูลในภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาดาวเทียมที่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้สามารถปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากได้พร้อมกันในการขนส่งสู่อวกาศแต่ละครั้ง
.
โดยในปี ค.ศ. 2021 พบว่ามีการขนส่งวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกันในจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสามารถลดต้นทุนในการดำเนินการต่อดาวเทียมได้ และส่งผลให้ระบบดาวเทียมแบบ Constellation มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีการเปิดให้บริการด้านการสื่อสารและประยุกต์ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แม้ว่าการมีดาวเทียมจำนวนมากจะสร้างคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ท้าทายกับการจัดการปัญหาขยะอวกาศในระยะยาว
.
#วงโคจรอวกาศแออัดคับคั่งไปด้วยดาวเทียม
.
ในขณะที่เศษซากวัตถุอวกาศที่ปลดระวางแล้วจำนวนมากในปัจจุบันยังไม่ถูกกำจัดออกไปจากวงโคจร แต่จรวดและดาวเทียมดวงใหม่ๆ ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วงโคจรอวกาศ โดยเฉพาะวงโคจรต่ำ (LEO) แออัดคับคั่งไปด้วยวัตถุอวกาศ ทั้งที่ยังทำงานอยู่และที่กลายเป็นขยะอวกาศไปแล้ว สุ่มเสี่ยงต่อการชนปะทะและสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนช่องสัญญาณดาวเทียม รบกวนการสื่อสารของนักบินอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นภัยคุกคามต่อกิจการอวกาศ และอาจนำไปสู่ความเสียหายในระดับที่ส่งผลต่อความมั่นคงของโลก
.
แนวโน้มปริมาณขยะอวกาศในวงโคจรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถตรวจจับและติดตามขยะอวกาศได้มากกว่า 30,000 ชิ้น สิ่งที่น่ากังวลคือชิ้นส่วนของขยะอวกาศเหล่านั้นมีการแตกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศ ดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ในวงโคจรต้องถูกควบคุมให้หลบเลี่ยงการปะทะกับชิ้นส่วนที่ล่องลอยกระจัดกระจายอยู่บนนั้นมานานนับสิบปี โดยหากวัดจากชิ้นส่วนของวัตถุที่มีขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไป ตามโมเดลของ ESA จะมีชิ้นส่วน “ขยะอวกาศ” ที่ลอยละล่องอยู่ในชั้นบรรยากาศกว่า 1 ล้านชิ้นเลยทีเดียว! และยิ่งการชนปะทะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่มีจำนวนเศษซากชิ้นส่วนขยะอวกาศในวงโคจรมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการชนปะทะเป็นทวีคูณ หากวันหนึ่งเราไปถึงจุดนั้นกันจริงๆ วงโคจรต่ำ (LEO) อาจไม่เอื้ออำนวยให้วัตถุอวกาศชิ้นใหม่ขึ้นไปโคจรเพิ่มได้อีก
.
#ความท้าทายในการจัดการขยะอวกาศ
.
ที่ผ่านมามีความพยายามในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจัดการปัญหาขยะอวกาศ แต่อาจยังไม่เพียงพอต่อปัญหาที่แสนจะท้าทายนี้ เพราะตัวเลขจำนวนดาวเทียมใหม่ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการควบคุมมาตรฐานอย่างเพียงพอ โดยจากรายงานพบว่า ในวงโคจรระดับต่ำ มักพบการชนกันของดาวเทียมขนาดเล็กและกลุ่มดาวเทียมแบบ Constellation และในวงโคจรระดับที่สูงขึ้น มักพบเศษซากชิ้นส่วนจากการชนปะทะของดาวเทียมล่องลอยด้วยความเร็วสูง ในส่วนของจรวดขนส่งวัตถุอวกาศนั้น จะสามารถเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศหรือสลายตัวเองตามธรรมชาติได้ภายใน 25 ปี ต่างจากเศษซากดาวเทียมที่ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย
.
การปฏิรูปวงโคจรอวกาศจำเป็นต้องมีการควบคุมอัตราการเติบโตของขยะอวกาศให้ได้ เศษซากชิ้นส่วนขนาดใหญ่จำเป็นต้องถูกนำออกจากวงโคจรก่อน เพื่อลดโอกาสในการชนและแตกเป็นเศษซากกระจัดกระจาย นอกจากนี้ วัตถุอวกาศที่ถูกปล่อยในปัจจุบันต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ระบบควบคุมภาคพื้นดินต้องสามารถตรวจจับขยะอวกาศได้แม่นยำเพื่อหลบหลีกการชน และวัตถุอวกาศที่ปลดระวางต้องสามารถกำจัดออกจากวงโคจรได้อย่างเป็นระบบ โดยทาง ESA ได้เปิดตัวโครงการสร้างดาวเทียม ClearSpace-1 ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจแรกของโลกในการกำจัดเศษซากขยะอวกาศ มีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบให้สามารถติดตามและตรวจจับชิ้นส่วนขยะอวกาศที่มีขนาดเล็กลงได้ โดยมีกำหนดส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2025
.
#บทบาทของ_GISTDA_กับการรับมือภัยคุกคามจากวัตถุอวกาศ
.
GISTDA ให้ความสำคัญอย่างมากกับการรับมือภัยคุกคามจาก “ขยะอวกาศ” โดยได้พัฒนาระบบ “ZIRCON” ระบบการจัดการจราจรอวกาศเพื่อติดตามและแจ้งเตือนการชน สำหรับบริหารจัดการความเสี่ยง ลดและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับดาวเทียมในความดูแล ทั้งดาวเทียม THEOS และดาวเทียม THEOS-2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมาระบบ ZIRCON ได้ปฏิบัติการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการพุ่งชนได้อย่างแม่นยำ ทำให้ GISTDA สามารถวางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ระบบ ZIRCON พัฒนาโดยทีม AstroLab มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์อวกาศจากหน่วยงาน Combined Space Operations Center (CSpOC) และแจ้งเตือนการพุ่งชนของวัตถุอวกาศกับดาวเทียม THEOS ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน รวมไปถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยง วิเคราะห์แนวทางการปรับวงโคจร เพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง และลดความเสี่ยงในการชนวัตถุอวกาศได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังสามารถลดงบประมาณในการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไปอีกขั้น
.
การพัฒนากิจการอวกาศจำเป็นต้องดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ แน่นอนว่าเมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดก็ลดน้อยลง การพัฒนาจึงต้องอยู่ในแนวทางที่สมดุล คำนึงถึงความยั่งยืน เพื่อให้สามารถให้ประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #ขยะอวกาศ #เทคโนโลยีอวกาศ #ความเสี่ยงนอกโลก #Spacedebris #Spacejunk #วัตถุอวกาศ #เฝ้าระวัง #วงโคจรอวกาศ

phakpoom.lao 21/6/2565 2122 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง