Head GISDTDA

GISTDA Town Hall Meeting

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 GISTDA ได้จัดกิจกรรม Town Hall Meeting ผู้บริหารพบบุคลากร โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้มาร่วมพูดคุยในกิจกรรมและได้ กล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินโครงการ THEOS-2 พร้อมทั้งขอบคุณบุคลากรทุกคนที่มีส่วนร่วม เนื้อหาสาระสำคัญสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นของ THEOS-2

  • จุดเริ่มต้นแรกเริ่มกว่าที่โครงการ THEOS-2 จะเกิดขึ้น GISTDA ได้ลงแรงไปมาก ๆ ด้วยความตั้งใจว่า โครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญของ GISTDA และก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศไทย
  • จากการประชุมหลายครั้ง การทำงานร่วมกันกับหลายฝ่าย โครงการก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาทีละนิด ๆ
  • เราได้พูดคุยกับหลากหลายคนที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญ เราได้ความร่วมมือจากทุกคนใน GISTDA ที่ต่างช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้ก้าวไปข้างหน้าได้ ด้วยการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

วิศวกรที่ไปฝึกที่อังกฤษ

  • เราคัดเลือกและส่งวิศวกรชุดหนึ่งไปร่วมอบรมกับทางอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาบุคลากรที่ไม่ใช่แค่เพื่อ GISTDA แต่เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้สู่ประเทศ
  • วิศวกรกลับมา ถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองรู้ ส่งต่อให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง แต่ละฟันเฟืองขยับทำงานต่อไปพร้อม ๆ กัน
  • ถ้าไม่มีคนตอบรับองค์ความรู้เหล่านี้จากทีมวิศวกร ที่ทำมาก็ถือว่าจบกัน เราไม่ได้บรรลุเป้าหมาย แต่เพราะทุกคนตั้งใจ ทุกคนเห็นคุณค่าของโครงการนี้ เราจึงยังเดินต่อไปได้

ชิ้นส่วนแรกเริ่มของดาวเทียม / อาคารที่กำลังก่อสร้าง

  • ขณะที่ทางอังกฤษเริ่มก่อร่างสร้างดาวเทียมขึ้นมา ทางฝั่งไทย อาคาร AIT ทีเราตั้งใจให้เป็นหมุดหมายสำคัญของการสื่อถึงความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศไทยของพวกเราชาว GISTDA ก็เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา
  • แม้จะเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร ระหว่างนั้นเราก็ได้แต่เฝ้ารอว่าสิ่งที่เราลงทุนลงแรงไปจะกลับมาเป็นรูปธรรมได้มากแค่ไหน แต่ทุกคนก็ยังคงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ดาวเทียมที่เสร็จสิ้น / อาคาร AIT ที่เป็นรูปเป็นร่าง

  • จนถึงวันนี้ที่ดาวเทียม THEOS-2A ซึ่งเป็นผลงานร่วมของวิศวกรไทยเสร็จสมบูรณ์ และอาคาร AIT ที่พวกเรายืนกันอยู่ตรงนี้ก็พร้อมใช้งาน
  • แต่แน่นอนว่าแค่อาคารหรือห้องปฏิบัติการไม่ได้แปลว่าทุกอย่างพร้อม แต่เพราะเรามีคนของเราที่มุ่งมั่นตั้งใจ อยากจะพัฒนาทุกฟังก์ชั่นของอาคารนี้ไปพร้อม ๆ กัน
  • เรามีแล็บที่มีมาตรฐาน และมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพร้อมจะให้บริการคนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทำงาน เราก็ได้ความช่วยเหลือจากพี่ ๆ พนักงานทุกคน แม่บ้าน ฯลฯ ทุกคนที่ถึงแม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการ THEOS-2 โดยตรง แต่ทุกคนทำให้การทำงานของทีมงานสะดวกขึ้น
  • เราจะทำงานได้อย่างไรถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย คงไม่มีความสุขถ้ามองออกไปรู้สึกว่าห้องไม่สะอาด สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ทุก ๆ คนที่อยู่ ณ ทีนี้ และทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของ THEOS-2 ความสำเร็จของพวกเราชาว GISTDA

Sustainable growth ของวงการอุตสาหกรรมอวกาศไทย / ภาพจาก Stock photo ให้เห็นอนาคตของวงการเทคโนโลยีอวกาศ

  • THEOS-2 ในตอนนี้ดำเนินการไปจนใกล้ถึงวันที่จะขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เรียกว่ามากันเกินครึ่งทาง และในวันที่ดาวเทียมขึ้นสู่ท้องฟ้า ผมก็หวังว่าเราทุกคนในฐานะคนของ GISTDA จะได้ร่วมยินดีไปด้วยกันจากใจจริง
  • เพราะพวกเราคือส่วนหนึ่งของเรื่องราวเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศไทย เราพร้อมแล้วที่จะพาประเทศก้าวสู่เวทีโลก และพวกเราจะก้าวไปพร้อม ๆ กัน
  • ทุกสิ่งที่พวกเราลงทุนลงแรงไปและช่วยกันรังสรรค์มันขึ้นมา ก็เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ วงการของเราจะยั่งยืนได้ เราทุกคนต้องก้าวไปพร้อม ๆ กัน

GISTDA Enhancement Roadmap as National Core Space Agency

  • GISTDA ได้วาง roadmap ว่าองค์กรจะต้องเป็น “ National Core Space Agency “ ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การที่เราใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่เรามีส่งถึงมือประชาชนให้ใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
  • โดยในปัจจุบันนี้ GISTDA มีแผนงานระยะสั้นเราพัฒนาต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐาน THEOS-2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้องค์กรไปสู่เป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็น“ National Core Space Agency “ ได้ อยู่ที่บุคลากรและการทำงานภายในองค์กร เช่น ยุทธศาสตร์องค์กรที่ชัดเจน การสร้างทีม การให้ความสำคัญกับบุคลากร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ กำลังความคิด จากทุกคนในองค์กร  ไม่ว่าจะอยู่ในภารกิจใดๆ ขององค์กร ทุกคนก็มีส่วนที่ต้องผลักดันให้ GISTDA เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรืออาคาร AIT อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

 

 

luckyka.tia 2/8/2565 0
Share :