Head GISDTDA

โครงการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว โดยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (GISTDA Goes Green)

 

สทอภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงได้ดำเนินกิจกรรมการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว ในบริเวณพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ในชื่อโครงการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว โดยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (GISTDA Goes Green) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ บริเวณพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ และเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กร รวมถึงการสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันนำไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ต่อไป

ผลจากการออกสำรวจภาคสนามเพื่อตรวจวัดความเจริญเติบโตของต้นไม้บริเวณพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ พื้นที่ปลูกต้นไม้ทั้งหมดจำนวน 120 ไร่ ซึ่งมีรูปแบบการปลูกต้นไม้แบบกระจายทั่วพื้นที่ ลักษณะการปลูกเป็นการจัดสวน รอบๆอาคารและสถานที่ ได้ทำการวัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ทุกต้นที่มีความสูง 1.3 เมตร ขึ้นไปและมีเส้นรอบวงของลำต้นตั้งแต่ 15 เซนติเมตรขึ้นไป พบว่า มีจำนวนต้นไม้ทั้งหมด 1,840 ต้น 3 กลุ่มชนิดพรรณ ได้แก่ 1) กลุ่มชนิดพรรณไม้ทั่วไป จำนวน 57 ชนิดพรรณ จำนวนทั้งหมด 1,504 ต้น 2) กลุ่มปาล์ม จำนวน 4 ชนิดพรรณ จำนวนทั้งหมด 334 ต้น 3) กลุ่มไผ่ พบจำนวน 1 ชนิดพรรณ จำนวน 2 กอ เมื่อนำผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลความเจริญเติบโตของต้นไม้ในภาคสนามมาทำการวิเคราะห์หาปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก (kgCO2eq) โดยการจำแนกตามกลุ่มพรรณไม้ที่พบทั้ง 3 กลุ่ม สรุปได้ว่า ต้นไม้ทั้งหมดในบริเวณพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ สามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งหมด 806,602 kgCO2eq

โดย สทอภ. ได้รับการประเมินผลและผ่านการรับรองโครงการ LESS จาก อบก. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้นเพื่อประกาศเกียรติคุณ และยกย่องผู้ทำความดีส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่ระดับที่สามารถซื้อ-ขาย เครดิตได้ กิจกรรมนี้ ทำให้องค์กรมีกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) รวมทั้งสร้างความตระหนักให้แก่ตนเอง องค์กร หน่วยงาน และชุมชน ในการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก และดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เอกสารที่เกี่ยวข้อง:
Admin 23/8/2565 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง