Head GISDTDA

พัฒนาคนสู่อวกาศ = พัฒนาชาติสู่ความยั่งยืน

   จากการส่งทีมวิศวกรดาวเทียมของไทย เข้าร่วมฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอนของการออกแบบและพัฒนาดาวเทียมกับทาง Surrey Satellite Technology Ltd. (SSTL) ณ เมืองกิลฟอร์ด สหราชอาณาจักร นับเป็นก้าวสำคัญภายใต้โครงการ THEOS-2 ที่มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศ และนำกลับมาถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับบุคลากรภายในประเทศ เพื่อส่งเสริม ecosystem ของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยให้ยั่งยืน

   ดาวเทียมเล็กภายใต้โครงการ THEOS-2 เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาบุคลากรอย่างจับต้องได้ องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ทีมวิศวกรได้รับในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ขั้นตอนการบริหารงานโครงการในภารกิจดาวเทียมเล็ก การออกแบบระบบต่าง ๆ การควบคุมคุณภาพทางเทคนิคในการผลิต การวางแผนการทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ การปฏิบัติจริง รวมไปถึงการประกอบดาวเทียมทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบในระดับ spacecraft level (การทดสอบกับดาวเทียมทั้งดวง) เมื่อได้เรียนรู้การสร้างเทคโนโลยีชั้นสูงจนสำเร็จ ในอนาคตเราก็สามารถทำเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้เช่นกัน และเป้าหมายการสร้าง ecosystem ของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

Third Payload กับฝีมือการพัฒนาโดยวิศวกรชาวไทย นับเป็นการยืนยันความสามารถโดยประจักษ์

   ภารกิจสำรวจโลกด้วยดาวเทียมเล็กในโครงการ THEOS-2 ทีมวิศวกรได้ฝึกฝนและลงมือปฏิบัติจริงกับ First Payload ซึ่งเป็นเพย์โหลดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ และ Second Payload ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณเรือและเครื่องบิน ดังนั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ฝีมือว่าทำได้ ทาง SSTL ได้มอบหมายภารกิจให้กับทีมวิศวกรไทยในการพัฒนา Third Payload โดยเปิดโอกาสให้สามารถแสดงความคิดเห็น และออกแบบได้อย่างอิสระ ภายใต้ข้อจำกัดทางเทคนิค เช่น ขนาด น้ำหนัก ปริมาณข้อมูล ระยะเวลาในการใช้งานบนอวกาศ ดังนั้น Third Payload ถือเป็นหนึ่งใน showcase ของ GISTDA ที่ช่วยพัฒนาวงการอวกาศ และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างคนที่ใช่ให้กับวงการในอนาคต

   ดาวเทียมเล็กหรือ THEOS-2 Small Sat เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ THEOS-2 กับเป้าหมายเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ อันดับแรกคือ “สร้างคน” โดยการส่งคนไปเรียน ไปฝึกฝน อันดับที่สองคือ “สร้างผู้ประกอบการ” มุ่งเน้นด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต การพัฒนากำลังคน และการให้บริการทดสอบและวิจัยแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ จะยิ่งเสริมกำลังสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศได้ครบวงจรมากขึ้น

 

KHTT แผนส่งต่อองค์ความรู้จากมืออาชีพสู่มืออาชีพ

   หลังจากที่ทีมวิศวกรไทยเดินทางกลับมายังประเทศไทย แผนงานแรกคือการจัดกิจกรรม Know – How Transfer and Training (KHTT) คือการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจาก SSTL มาให้กับทีมวิศวกรไทยรุ่นต่อไป โดยจะมีความหลากหลายทั้งในรูปแบบของคอร์สเรียน workshop รวมไปถึงการลงมือปฏิบัติจริงร่วมกันในโครงการสร้างแบบจำลองดาวเทียม (Satellite Qualification Model) เพื่อการเรียนรู้สู่ประสบการณ์ตรง โดยมุ่งต่อยอดในการพัฒนาบุคลากร ที่ไม่ได้จำกัดแต่ในองค์กรเท่านั้น เรายังส่งต่อไปถึงเด็ก ๆ ที่ห่างไกลโอกาสได้อีกด้วย

amorn.pet 9/6/2565 515 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง