Head GISDTDA

SPACE Update : กว่าจะเป็นดาว(เทียม): สาระน่ารู้ของขั้นตอนการส่งดาวเทียมสู่วงโคจร

 

ในช่วงเวลาที่ธุรกิจอวกาศเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ ข่าวการปล่อยดาวเทียมจึงเป็นข่าวที่เหมือนจะเห็นได้ในทุกวันเลยใช่ไหมล่ะครับ ทุกคนอาจจะสงสัยว่าการส่งดาวเทียมเป็นเรื่องง่ายในยุคแห่งเทคโนโลยีนี้แล้วใช่ไหม แต่คำตอบคือไม่ง่ายถึงขนาดนั้นหรอกครับ การส่งดาวเทียมขึ้นไปยังอวกาศนั้นมีขั้นตอนมากมายที่อาศัยความใส่ใจและความเชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานโดยขั้นตอนทั้งหมดนั้นแบ่งได้ถึงสองภาค ได้แก่ภาคอวกาศและภาคพื้นดิน

 

เริ่มจากภาคอวกาศ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการส่งดาวเทียมขึ้นไปนอกจากต้องมีดาวเทียมแล้ว เรายังต้องมีพาหนะที่จะพาดาวเทียมขึ้นไปยังวงโคจรอีกด้วย โดยการหาจรวดขนส่งนั้นจำเป็นจะต้องใช้จรวดที่สามารถรับน้ำหนักและพาดาวเทียมขึ้นไปยังวงโคจรเป้าหมายได้โดยไม่คลาดเคลื่อน และต้องเป็นจรวดที่มีตารางปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับการพัฒนาดาวเทียมเพราะต้องทำสัญญาและจองไฟลท์ล่วงหน้า 1-2 ปี ในเรื่องของราคาเองก็เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยครับ

 

เมื่อเลือกจรวดได้แล้ว จะเริ่มการออกแบบโครงสร้างดาวเทียมให้ทนต่อแรงการนำส่งและกลไกปลดแยกดาวเทียมจากจรวดนำส่ง ต่อมาจึงเป็นการเตรียมความพร้อมหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่การนำส่งดาวเทียมใน transport container ที่ต้องมีการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ อย่างเข้มงวดเนื่องจากต้องใช้พาหนะหลากหลายในการขนส่งดาวเทียมไปยัง Launch Site ซึ่งมักอยู่ในบริเวณห่างไกล หลังจากถึงที่หมายแล้วจะมีการเตรียมความพร้อมก่อนบรรจุในจรวดนำส่ง ทั้งการเติมเชื้อเพลิง, การตรวจสอบดาวเทียมขั้นสุดท้าย และการติดตั้งหรือถอดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการนำส่งซึ่งจะใช้เวลาหลายวันหรือสัปดาห์ ขั้นตอนสุดของภาคอวกาศคือการซื้อประกันการนำส่งในกรณีที่การนำส่งล้มเหลวหรือดาวเทียมไม่สามารถปฏิบัติงานได้ในภายหลัง เพื่อความไม่ประมาทดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A ก็มีการทำประกันไว้เช่นกันครับ

 

ในส่วนของภาคพื้นดินจะมีการติดตั้งและทดสอบระบบที่ใช้ติดต่อสั่งการ สำหรับการควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม จากนั้นจึงทดสอบระบบว่าดาวเทียมสามารถทำงานตามที่ออกแบบไว้ได้หรือไม่โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้ผลิต นอกจากนั้นจะมีการฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินใช้งานและบำรุงรักษาระบบ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาระบบทั้งของภาคพื้นดินและตัวดาวเทียม

 

อีกหนึ่งการเตรียมการของภาคพื้นดินที่จะลืมไม่ได้เลยคือการแจ้งขอใช้งานความถี่กับ International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งจะแจ้งความถี่ต่าง ๆ ที่ดาวเทียมจะส่งลงมาที่สถานีภาคพื้นดินเพื่อตรวจสอบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากคลื่นความถี่หรือไม่ ขั้นตอนนี้ต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนการนำส่งดาวเทียมไม่น้อยกว่า 1 ปี

นอกจากหน่วยงาน ITU แล้วเรายังต้องขออนุญาติสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อนำเข้าและใช้งานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความถี่ต่างๆ อีกด้วยครับ

 

เห็นไหมครับว่ากว่าดาวเทียมจะขึ้นไปทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพถึงวงโคจรนั้นต้องการลงทุนลงแรงอย่างมากเลยทีเดียว ทีม GISTDA และองค์กรพันธมิตรที่มีส่วนร่วมก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ในอนาคตที่ทุกคนจะได้รับจาก THEOS-2 ครับ

amorn.pet 10/8/2022 0
Share :