Head GISDTDA

คาร์บอนเครดิต : การสำรวจพื้นที่สีเขียวเพื่อกลไกการพัฒนาที่สะอาด

ประเด็นเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลก เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมา ในการประชุมระดับนานาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ได้เกิดข้อตกลงระหว่างนานาประเทศเพื่อกำหนดกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน

สหประชาชาติ (United Nations) ได้ตระหนักถึงปัญหานี้จึงพยายามหาทางป้องกัน และแก้ไขปัญหา จนเป็นที่มาของ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol, KP) ซึ่งเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายระดับนานาชาติที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ผลิตขึ้น

พิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกต่างๆ ที่จะทำให้ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้หลายกลไก และหนึ่งในกลไกนั้นก็คือ กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติเพื่อทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับการลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกทดแทนของเก่าจากประเทศพัฒนาแล้ว

โดยในกรณีที่ประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่ถูกกำหนดไว้ ก็จะใช้วิธีเข้าช่วยเหลือ หรือร่วมลงทุนดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา แล้วก็จะนำปริมาณก๊าซที่ลดได้จากโครงการ CDM นั้นๆ ซึ่งผ่านการรับรอง CERs (Certified Emission Reduction) หรือที่เรียกกันว่าคาร์บอนเครดิต มาคำนวณเสมือนว่าได้ดำเนินการลดในประเทศของตนเอง นอกจากนี้ คาร์บอนเครดิตยังสามารถนำมาซื้อขายได้ในตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon market) อีกด้วย

 

กำเนิดแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ประเทศไทยได้ร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการได้ในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการ ภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM

หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ก่อตั้งองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 โดยหนึ่งในภารกิจของ อบก. คือเรื่องคาร์บอนเครดิต

ตามการนิยามของ อบก. คำว่า "คาร์บอนเครดิต" คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง หรือกักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น การนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน และนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

จุดมุ่งหมายของการสร้างคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เกิดการซื้อและขายได้ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ต้องหาวิธีการชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกมา หนึ่งในวิธีการจัดการคือ การซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ผลิต โดยสามารถหาซื้อเพิ่มเติมจาก “ตลาดคาร์บอนเครดิต” ที่เป็นแหล่งรวบรวมผู้ขาย ที่สามารถนำเอาเครดิตส่วนเกินไป “เสนอขาย” ได้

ในประเทศไทย ผู้ขายคาร์บอนเครดิตที่มาจากภาคป่าไม้ บางส่วนเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ดังนั้น จึงเกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่จะช่วยเหลือชุมชนให้สามารถได้รับผลตอบแทนจากการดูแลรักษาพื้นที่ป่า ไม่ให้เกิดไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่า

 

เมื่อสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจกถูกจำกัด

การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ จำเป็นต้อง "เริ่มต้นจากการคำนวณปริมาณกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในแต่ละพื้นที่ เช่น ใน พ.ศ. 2565 วัดปริมาณกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ได้ 800 ตัน หลังจากนั้น 5 ปีผ่านไป เมื่อต้นไม้โตขึ้น วัดปริมาณกักเก็บคาร์บอนอีกครั้งได้ 1,000 ตัน ส่วนต่าง 200 ตัน ที่เพิ่มขึ้นนี้ เรียกว่า คาร์บอนเครดิต” ซึ่งผู้ขาย (เจ้าของหรือผู้ดูแลรักษาป่า) สามารถนำเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก จะสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ขายเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ สู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้ว ตลาดคาร์บอนสามารถทำให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

 

กรณีตัวอย่างจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่พัฒนาโดย อบก. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณคาร์บอนเครดิต ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ นอกจากนั้นยังจะช่วยป้องกันไม่ให้ป่าถูกทำลาย และทำให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ป่าช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย

GISTDA ได้เข้ามามีบทบาทในภารกิจนี้ โดยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาช่วยในการติดตามพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้นำไปใช้วางแปลงตรวจวัดความเจริญเติบโตของต้นไม้ และคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อจัดทำข้อเสนอเข้าร่วมโครงการ T-VER กับ อบก. ต่อไป

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ GISTDA กล่าวว่า ในความเป็นจริง การสำรวจพื้นที่ภาคสนามไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น GISTDA จึงได้เข้ามาสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โดยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อติดตามพื้นที่ป่าไม้ จำแนกประเภทป่าไม้ และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชนให้มีความถูกต้องแม่นยำ ช่วยประหยัดเวลากว่าวิธีที่ต้องใช้คนจำนวนมาก และอาจคลาดเคลื่อนได้

นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละปีจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการนำไปใช้บริหารจัดการฟื้นฟูพื้นที่ป่า รวมไปถึงการวางนโยบายสำหรับเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยได้อีกด้วย

GISTDA ได้จำแนกพื้นที่สีเขียวร่วมถึงพื้นที่ป่าทั้งประเทศจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2564 แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า ซึ่งนำไปสู่การคำนวนปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ได้

นอกจากนี้ GISTDA ยังได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สำรวจภาคพื้นดิน และเครื่องเลเซอร์สแกนเนอร์ เพื่อสำรวจป่าโดยสร้างแบบจำลอง 3 มิติของแปลงสำรวจ ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของพื้นที่ป่า และสำรวจพันธุ์ไม้ในแปลงสำรวจ ที่จะช่วยให้การคำนวนปริมาณการกักเก็บคาร์บอนมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ความคาดหวังในความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กับ GISTDA ครั้งนี้ ดร.สยาม กล่าวว่า นอกเหนือจากมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้น ประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหวังว่าโครงการนี้อาจจะเป็นต้นแบบในเรื่องการอนุรักษ์ป่าในประเทศไทยแบบมีส่วนร่วม และในอนาคต ผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตก็สามารถนำไปใช้เป็นกองทุนอนุรักษ์ป่า เฝ้าระวังไฟป่า และจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

 

GISTDA มุ่งมั่นขยายการสำรวจพื้นที่สีเขียว

GISTDA กำลังดำเนินการพัฒนาข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นที่สีเขียว โดยแบ่งตามรายจังหวัดในประเทศไทย และมีแผนขยายพื้นที่การคำนวนปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไปยังพื้นที่ป่าชายเลนและป่าตามแนวชายฝั่งของประเทศไทยด้วย

ในระดับประเทศ รัฐบาลประเทศไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ปัจจุบัน ป่าไม้ของประเทศไทย สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 90 ล้านตันต่อปี ซึ่งนอกจากจะเป็นคุณสมบัติที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนแล้ว ยังรวมถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ผ่านกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากพื้นที่ป่าไม้ของชุมชนให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เกิดเป็นรายได้กลับคืนสู่ชาวบ้านและชุมชน และเมื่อมองเห็นประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ ก็จะเกิดความหวงแหนและร่วมมือกันดูแลรักษาให้มีความอุดมสมบูรณ์ เกิดการพัฒนาต่อยอดผลผลิตจากป่าชุมชน สร้างแรงจูงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เองที่จะช่วยให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

phasaphong.tha 20/9/2565 2
Share :