Head GISDTDA

“แม่น้ำโขง” มหานทีที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ

 

เห็นช่วงนี้จะมีกิจกรรมหลายอย่างเกิดขึ้นที่แม่น้ำโขง แอดมินเลยอยากแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงผ่านมุมมองจากอวกาศ ครับ

 

“แม่น้ำโขง” มหานทีที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ ด้วยความยาวเกือบ 5,000 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่ ประเทศเมียนมาร์ ประเทศลาว และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

 

จากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่

 

ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงประกอบไปด้วยประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ส่งผลให้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก

 

ความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าวของแม่น้ำโขงส่งผลให้ช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้กับไร่นาด้วยตะกอนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำก็เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญให้กับการอุตสาหกรรม ช่วยกรองน้ำและฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ รวมถึงการปกป้องเมืองต่างๆ จากภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยและวาตภัย ผู้คนประมาณร้อยละ 80 จากทั้งหมด 300 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ต่างพึ่งพาอาศัยระบบธรรมชาตินี้โดยตรงในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิต และประเพณีวัฒนธรรม

 

นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งโปรตีน แหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืช และสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านคน เป็นแหล่งโปรตีนของผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมากถึงร้อยละ 47-80 โดยมีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 127,000 – 231,000 ล้านบาท

 

ลักษณะสำคัญของแม่น้ำโขงคือ มีตลิ่งที่สูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำจะไหลจากทางเหนือลงสู่ทางใต้ตลอดทั้งปี ทำให้เกิดการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำโดยสร้างเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งสายแม่น้ำ ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล ดินในแม่น้ำโขงเป็นดินทราย มีเกาะแก่งน้อยใหญ่กว่าหนึ่งร้อยแห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ

 

นอกจากนี้ แม่น้ำโขงยังมีความผูกผันกับความเชื่อพื้นบ้านมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคว่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงโดยในทุกๆวันออกพรรษาจะมีประชาชนจำนวนมากไปเยือนริมฝั่งแม่น้ำโขงโดยเฉพาะฝั่งประเทศไทย แถบอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพื่อดูปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค

 

แต่ทว่าในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีกลุ่มนักวิจัยจากหลายสถาบันได้ออกมาชี้ชัดหรือหาหลักฐานอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่าเกิดจากกลุ่มก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในแม่น้ำโขง อาทิเช่น ก๊าซมีเทน เป็นต้น แต่ก็ยังมิได้มีหลักฐานชี้ชัดเป็นที่แน่นอน ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากการกระทำของพญานาค หรือ เกิดจากการกระทำของธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งกับภาพล่าสุดที่ถ่ายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 หรือช่วงฤดูมรสุม พบว่าขนาดความกว้างของแม่น้ำหลายจุดมีระยะที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นบริเวณหาดทรายริมแม่น้ำโขงที่ถูกแม่น้ำโขงที่มีระดับสูงขึ้นเข้าท่วมจนเหลือเพียงบางส่วน อีกทั้งสีของแม่น้ำที่ปรากฏในภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ถ่ายในเดือนตุลาคมปรากฏออกเป็นสีโทนน้ำเงิน บ่งบอกถึงตะกอนที่ปะปนในแม่น้ำสูงขึ้น อันเนื่องมาจากน้ำฝนที่ชะล้างหน้าดินแล้วไหลลงมาร่วมกันในแม่น้ำ ด้วยปริมาณน้ำที่มากขึ้นก็อาจจะส่งผลให้แม่น้ำโขงช่วงนี้ไหลเชี่ยวเพิ่มมากขึ้น

phasaphong.tha 11/10/2565 0
Share :