Head GISDTDA

สร้างระบบนิเวศดี ดันเทคโนโลยีอวกาศไทยก้าวหน้า

 

ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ดีต่อเทคโนโลยีอวกาศมีอะไรบ้าง

การพัฒนาความพร้อมของเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และองค์ความรู้ของบุคลากรที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในรูปแบบใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้หลากหลายแขนง เช่น การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่จะยกระดับการใช้ข้อมูลดาวเทียมใน รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง เกิดประโยชน์ และสะดวกต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ระบบนิเวศที่ดีจำเป็นต้องครอบคลุม 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร

 

แล้วถ้าไม่มี Ecosystem ที่ดี เทคโนโลยีอวกาศไทยจะเป็นอย่างไร

ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวันเรามากมาย แต่ถ้าการพัฒนาระบบนิเวศองค์รวมไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสม ประโยชน์จากเทคโนลียีที่ช่วยให้ชีวิตคนเราสะดวกปลอดภัย รวมถึงการต่อยอดพัฒนาประเทศในเชิงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ คงล่าช้าเป็นผลกระทบต่อเนื่อง เช่น การสื่อสารและโทรคมนาคม ที่มีดาวเทียมสื่อสารทำหน้าที่เป็นสถานีรับส่งคลื่นวิทยุและเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของโลกทั้งโทรศัพท์ โทรเลข โทรสาร รวมถึงการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ สัญญาณวิทยุ และการส่งข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ หากประเทศไทยพัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยีไม่เท่าทันมาตรฐานสากล และหากบุคลากรมีทักษะไม่พอในการใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ การสื่อสารในชีวิตประจำของคน การตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ รวมถึงการเตือนภัยต่าง ๆ คงต้องติดขัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่ยังไม่รวมถึงประโยชน์ที่อาจเสียไปในด้านอื่น ๆ เช่น การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมใกล้เคียง การยกระดับผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง (Space Grade) เป็นต้น

 

GISTDA กับเส้นทางความพร้อมของระบบนิเวศเพื่อเทคโนโลยีอวกาศไทย

หนึ่งในพันธกิจหลักของ GISTDA คือการพัฒนาดาวเทียม ดังนั้น ความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็น

1) ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ หรือ GALAXI LAB ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนานวัตกรรมการบินและอวกาศ รวมถึงการให้บริการทดสอบและวิจัย มีบุคลากรที่มีความสามารถและมีศักยภาพการออกแบบ พัฒนา มีองค์ความรู้ในกระบวนการสร้างและประกอบดาวเทียม

2) ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม หรือ AIT ที่ใช้สำหรับการสร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบในระบบนิเวศของการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในการพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย

3) ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร หรือ Astrolab เน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ 4 ด้าน ได้แก่

1. การวิจัยและศึกษาพลวัตของการบินในอวกาศ (Space flight dynamics)

2. การวิจัยพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ควบคุมการปฏิบัติการดาวเทียมขนาดเล็ก 100-500 kg (Onboard flight software for small satellite 100-500 kg)

3. การวิจัยที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและบรรเทาภัยจากขยะอวกาศหรืออุกกาบาตที่กระทบต่อมวลมนุษยชาติ (Space debris and asteroid mitigation)

4. การศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ (Space weather forecast)

 

แน่นอนว่าความพร้อมในเรื่องซอฟต์แวร์และฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศ ทั้งระบบการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนากำลังคน เพื่อตอบโจทย์ระบบนิเวศเทคโนโลยีอวกาศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ GISTDA ยังคงมุ่นมั่นผลักดัน เพื่อให้ระบบนิเวศเทคโนโลยีอวกาศไทยมั่นคงและยั่งยืน

.

อ้างอิง

https://ngthai.com/science/38264/satellite-ecosystem/

https://ngthai.com/science/33270/space-technology/

https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=2325

amorn.pet 11/10/2565 0
Share :