Head GISDTDA

Thailand_Space_and_Safety : ประเทศไทยกับการรับมือกับภัยคุกคามจากห้วงอวกาศ

#Thailand_Space_and_Safety
#ประเทศไทยกับการรับมือกับภัยคุกคามจากห้วงอวกาศ
.
ห้วงอวกาศที่ไร้ซึ่งเขตแดนได้กลายเป็นหนึ่งพื้นที่ภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศไปเรียบร้อยแล้วในศตวรรษที่ 21 ผลจากการยกระดับขีดความสามารถของกิจการอวกาศทั่วโลก เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ทำให้ปัจจุบันกว่า 80 ประเทศทั่วโลกมีดาวเทียมเป็นของตัวเองโคจรอยู่บนห้วงอวกาศรวมแล้วกว่า 3,300 ดวง ในขณะที่โครงการ Starlink ของ SpaceX มีแผนว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในปีนี้อีกกว่า 12,000 ดวง และยังไม่นับชิ้นส่วนขยะอวกาศของดาวเทียมที่ปลดระวางและเศษซากจากการชนกันที่ล่องลอยอยู่ในวงโคจรอีกกว่าล้านชิ้น!
.
เทคโนโลยีอวกาศเป็นทั้งเครื่องมือหนึ่งในการแสวงหาประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศในหลายมิติ และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจทางการเมือง การพาณิชย์ ความมั่นคงและความปลอดภัย และการทหาร อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ห้วงอวกาศในวันนี้คับคั่งไปด้วยเทคโนโลยีอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างทวีคูณ รวมถึงชิ้นส่วนขยะอวกาศที่ลอยเคว้งอย่างไร้ทิศทางอยู่ในวงโคจรมานานนับสิบปี เป็นภัยคุกคามทางอวกาศที่ต้องเฝ้าระวัง สร้างความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเสียหายที่ไม่อาจประเมิน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจนำไปสู่ความเสียหายในระดับที่ส่งผลต่อความมั่นคงของโลก เป็นอีกประเด็นความมั่นคงที่ทั่วโลกกำลังให้ความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง
.
#ภัยคุกคามจากห้วงอวกาศที่ผ่านมีอะไรบ้าง?
.
การชนกันของดาวเทียมและเศษซากชิ้นส่วนอวกาศครั้งใหญ่ด้วยความเร็วในระดับ Hypervelocity ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คือการชนกันของดาวเทียม Iridium-33 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารของประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำหนัก 560 กิโลกรัม และดาวเทียม Kosmos-2251 ซึ่งเป็นซากดาวเทียมที่ปลดระวางแล้วของประเทศรัสเซีย น้ำหนัก 900 กรัม โคจรอยู่ในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกัน และชนกันอย่างไม่คาดคิดด้วยความเร็วสูง 11 กิโลเมตร ต่อวินาที แรงปะทะมหาศาลได้ฉีกทึ้งโครงสร้างของดาวเทียมทั้งสองดวงแตกกระจายกลายเป็นชิ้นส่วนขยะอวกาศต่างขนาดกันไป ล่องลอยอยู่ในวงโคจรนับล้านชิ้น! สร้างผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาจนปัจจุบัน
.
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อปี 2561 ได้มีการตรวจพบเศษโลหะเนื้อดีกระจายเกลื่อนอยู่ในบริเวณพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดย GISTDA ได้เข้าตรวจสอบวัตถุดังกล่าว และคาดว่าเป็นชิ้นส่วนจรวดที่ใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ซึ่งประเทศไทยมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นพื้นที่ทางผ่านของการนำส่งจรวด จึงอาจเรียกได้ว่า ยิ่งมีความก้าวหน้าทางกิจการอวกาศมากเท่าใด ภัยคุกคามจากอวกาศยิ่งเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
.
#บทบาทของประเทศไทยในการรับมือกับภัยคุกคามจากห้วงอวกาศ
.
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการวางนโยบาย กฎหมาย และการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ในด้านการติดตามดาวเทียมดาวเทียมและวัตถุอวกาศ (Space Debris) และการติดตามวัตถุใกล้โลก (Near Earth Objects : NEOs) ที่มีโอกาสเสี่ยงในการพุ่งชนโลก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Situation Awareness) และถอดบทเรียนจากการชนกันครั้งใหญ่ เพื่อวางแผนควบคุมอัตราการเติบโตของชิ้นส่วนขยะอวกาศ กำหนดมาตรฐานของดาวเทียมที่จะถูกส่งขึ้นไป และบริหารจัดการจราจรทางอวกาศให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด
.
ประเทศไทยในฐานะผู้พัฒนาและเจ้าของดาวเทียมสำรวจโลกอย่างไทยโชตที่กำลังเข้าสู่วาระการปลดระวางกลายเป็นชิ้นส่วนขยะอวกาศในอีกไม่ช้า และการเตรียมพร้อมขึ้นสู่ห้วงอวกาศของดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A ที่กำลังจะมาถึง เพื่อขึ้นไปโคจรในวงโคจรต่ำที่แออัดคับคั่งอยู่ในปัจจุบันนี้ ประเด็นด้านการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management) และการเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Situational Awareness) จึงเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมาก
.
ไม่นานมานี้ GISTDA ร่วมกับ Korea Aerospace Research Institute : KARI และภาคีความปลอดภัยและความมั่นคงทางอวกาศ ได้มีการจัดเสวนา ‫“‬ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอวกาศ (Thailand Space Safety and Security)” เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อหารือการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและการบริหารจัดการจราจรทางอวกาศ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถการเฝ้าระวังภัยจากอวกาศ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ‬
.
#ZIRCON_นำร่องยกระดับการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางอวกาศในประเทศไทย
.
GISTDA ได้นำร่องพัฒนาระบบการจัดจราจรทางอวกาศ ที่เรียกว่า‫ “‬ZIRCON” เพื่อติดตามและแจ้งเตือนการชน ซึ่งระบบมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์อวกาศ และแจ้งเตือนการพุ่งชนของวัตถุอวกาศกับดาวเทียม THEOS ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน รวมไปถึงสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง แนวทางการปรับวงโคจรเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง ใช้สำหรับบริหารจัดการความเสี่ยง ลดและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับดาวเทียมในความดูแล ทั้งดาวเทียม THEOS และดาวเทียม THEOS-2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ‬
.
โดยที่ผ่านมาระบบ ZIRCON ได้ปฏิบัติการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการพุ่งชนได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างในปี 2564 สามารถคำนวณและแจ้งเตือนความเป็นไปได้ของการพุ่งชนจากวัตถุอวกาศในระยะ 100 เมตร และ 25 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก โดยได้ทำการปรับวงโคจรเพื่อหลีกเลี่ยงวิถีพุ่งชน ปลอดภัยจากการพุ่งชนในที่สุด และระบบ ZIRCON ยังสามารถคาดการณ์การกลับสู่พื้นโลกของจรวดนำส่งที่มีน้ำหนักมากถึง 20 ตัน ซึ่งวัตถุอวกาศดังกล่าวมีเส้นทางการโคจรผ่านประเทศไทยเป็นประจำทุกวัน สร้างความตระหนกให้กับประชาชนไม่น้อย โดยระบบ ZIRCON ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงและพบว่า มีโอกาสที่วัตถุอวกาศจะตกลงสู่ประเทศไทยเพียงร้อยละ 0.18 ซึ่งผลลัพธ์เป็นไปตามที่ระบบได้คาดการณ์ ท้ายที่สุดวัตถุอวกาศดังกล่าวได้ตกลงในมหาสมุทรอินเดีย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด
.
นอกจากนี้ ระบบ ZIRCON ยังทำให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการอวกาศได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศตามนโยบาย National Roadmap ของการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System Frontier Research : ESS เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศอีกด้วย
.
GISTDA ยังคงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาระบบ ZIRCON ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมุ่งยกระดับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยกระดับความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางอวกาศอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ไม่อาจประเมินมูลค่า โดยยึดผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงองค์รวมของโลกเป็นสำคัญ
.
Credit : ข้อมูลจำนวนดาวเทียมและแนวโน้มอุตสาหกรรมอวกาศจาก Bank of America Merrill Lynch
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #ดาวเทียม #ภัยคุกคามจากห้วงอวกาศ #ภารกิจด้านความมั่นคง #กิจการอวกาศ #ขยะอวกาศ

phakpoom.lao 12/10/2022 0
Share :