Head GISDTDA

8 พันล้านคน กับการเติบโตภายใต้ข้อจำกัดบนโลก

ทุกวินาทีบนโลกใบนี้ มีประชากรเพิ่มขึ้นตลอดเวลาในทุกๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังครองตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก รองลงมาคืออินเดียและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ   จนกระทั่งล่าสุด...จากกระแสข่าวที่ทางกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ได้ออกมาคาดการณ์ในเรื่องของประชากรโลกที่กำลังจะครบ 8,000 ล้านคนในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้นั้น ทำให้เกิดเป็นคำถามตามมาต่างๆมากมายทั้งในเรื่องข้อจำกัดของทรัพยากร คุณภาพชีวิต ระบบสาธารณูปโภค หรือแม้แต่ภาวะวิกฤติจากสถานการณ์ต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมหรือไม่ ?

แน่นอน..!! เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคในระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการก่อนที่จะสายเกินแก้ นั่นก็คือรีบวางแผนในการบริหารจัดการทรัพยากร วางแผนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และสิ่งหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในการวางแผนและแก้ไขปัญหาก็คือ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ”

เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ คือเทคโนโลยีที่ประกอบไปด้วยด้านการรับรู้ระยะไกล ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก ระบบต่างๆเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ได้ทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรในแต่ละด้านดังนี้

  • ภาคการเกษตร : ประชากรที่เพิ่มขึ้นในทุกๆวัน จะต้องตามมาด้วยประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร คำถามที่สำคัญคือ เราจะต้องบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรอย่างไร ให้เพียงพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเลือกพื้นที่เพาะปลูกและพืชที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ จึงเป็นหัวใจสำคัญ ที่เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจะต้องเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และสนับสนุนในภาคการเกษตร การกำหนดโซนนิ่ง การคาดการณ์ปริมาณผลผลิต เป็นต้น
  • ด้านการจัดการเมือง : ประชากรที่เพิ่มขึ้นนำมาสู่ประเด็นของที่อยู่อาศัยที่ต้องมีการขยับขยาย การขยายตัวของเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การขยายตัวของเมืองอย่างไม่มีทิศทางก็ส่งผลเสียต่อการบริหารจัดการ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สามารถนำมาช่วยในการวางแผนผังในการขยายตัวของเมือง ให้สอดคล้องกับความเหมาะสมตามบริบทต่างๆ ทั้งนี้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างสังคมเมืองกับสิ่งแวดล้อมด้วย
  • ด้านการบริหารจัดการน้ำ : น้ำ จัดเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญในการดำรงชีวิต การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ต้องใช้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการอุปโภคบริโภค รวมถึงการใช้ในภาคส่วนอื่นๆ เช่นการเกษตรและอุตสาหกรรม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สามารถใช้งานเพื่อวิเคราะห์ความเพียงพอของปริมาณน้ำ ทั้งจากแหล่งตามธรรมชาติ และจากแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำไปวางแผนในการบริหารจัดการให้มีความสมดุลและยั่งยืนในที่สุด

นอกจากการใช้เทคโนโลยีภูมิสารเทศเพื่อบริหารจัดการในแต่ละด้านแล้วนั้น GISTDA กำลังพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า Actionable Intelligence Policy หรือ AIP เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายโดยคำนึงถึงปัจจัยในมิติต่างๆ ที่มากกว่า 1 ด้าน โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบมากกว่า 1 ด้าน การที่เราสามารถเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การเกษตร การจัดการเมือง จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถมองเห็นภาพรวม สามารถคาดการณ์ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทุกมิติ และสามารถทดสอบนโยบายผ่านการกำหนดฉากทัศน์ (Scenario) ที่น่าจะเกิดขึ้น เพื่อเลือกแผนการรับมือที่เหมาะสมที่สุดและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

amorn.pet 14/11/2565 0
Share :