Head GISDTDA

5 ด้านกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยในปี 2565 (3) ไทยแจ้งเตือนการชนกันของวัตถุอวกาศสำเร็จ_ด้วยระบบจัดการจราจรอวกาศ_หรือ_ZIRCON

5 ด้านกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยในปี 2565
.
#ตอนที่_3_ไทยแจ้งเตือนการชนกันของวัตถุอวกาศสำเร็จ_ด้วยระบบจัดการจราจรอวกาศ_หรือ_ZIRCON
.
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยใช้บริการแจ้งเตือนสถานการณ์ในอวกาศจากต่างประเทศ สำหรับดาวเทียมไทยโชต ซึ่งมีทั้งผู้ให้บริการที่เก็บค่าบริการ และผู้ให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยต้องการความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้นสำหรับการแจ้งเตือนสถานการณ์ของดาวเทียมไทยโชต
.
GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ จึงพัฒนาระบบจัดการจราจรอวกาศ หรือ ZIRCON ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการแจ้งเตือนการชนระหว่างดาวเทียมไทยโชตกับวัตถุอวกาศ รวมไปถึงการลดและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับดาวเทียมไทยโชต ซึ่งหลักการทำงานหลักๆ ของระบบนี้เริ่มต้นจากนำเข้าข้อมูลของดาวเทียมทั้งหมดสู่ระบบ ขั้นต่อมาคือการคำนวนวิถีโคจรล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน จากนั้นคัดกรองข้อมูลทั้งหมด เพื่อประเมินว่าดาวเทียมหรือวัตถุอวกาศชิ้นใดที่มีโอกาศเข้าใกล้ดาวเทียมไทยโชต และนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณหาความเสี่ยงแบบละเอียด สุดท้ายจะแจ้งเตือนไปยังผู้รับผิดชอบการควบคุมวงโคจรของดาวเทียมไทยโชตเพื่อปฏิบัติงานต่อไป และเก็บข้อมูลที่คำนวณได้ในรูปแบบฐานข้อมูล
.
ปัจจุบัน ZIRCON ได้ถูกใช้งานเพื่อจัดการจราจรของดาวเทียมไทยโชตเพียงดวงเดียว และในอนาคตมีแผนที่จะประยุกต์กับดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A หลังจากที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้สำเร็จ นอกจากนั้นผู้ประกอบการดาวเทียมจากทั้งในและต่างประเทศก็สามารถเข้าถึงบริการการแจ้งเตือนของ GISTDA ได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การนำเข้าข้อมูลจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย GISTDA จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้วยการพัฒนาระบบ ZIRCON ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของการพัฒนาระบบ ZIRCON คือ บุคลากรที่คิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นคนไทยทั้งหมด และได้ทำงานร่วมกันจนเกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศต่างๆ ที่สามารถต่อยอดและถ่ายทอดไปยังบุคลากรรุ่นอื่นๆ ได้ในอนาคต
.
สำหรับความท้าทายของการพัฒนาระบบ ZIRCON คือ ศูนย์วิจัยฯ ของเราต้องสามารถพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับผู้ให้บริการต่างประเทศ ดังนั้น ก่อนการยกเลิกใช้บริการจากต่างประเทศ ศูนย์วิจัยฯ จึงได้ทดสอบระบบเทียบเคียงผลการแจ้งเตือนจากผู้ให้บริการต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบความแม่นยำของ ZIRCON กับผลการแจ้งเตือนที่เคยใช้บริการก่อนหน้านี้
.
ความท้าท้ายต่อมาคือ “ข้อมูล” เนื่องจาก ข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบมีปริมาณมาก ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาระบบพบว่า การคำนวณหาความเสี่ยงของการชนต้องใช้เวลาประมาณสองถึงสามวัน ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะช้าเกินไปที่เจ้าหน้าที่จะปรับวงโคจรของดาวเทียมได้ทันเวลา แต่ด้วยความสามารถของศูนย์วิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์จึงช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้สำเร็จ และ ZIRCON ก็มีประสิทธิภาพที่ดีพอสำหรับการคำนวณได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว และสามารถจัดส่งข้อมูลการแจ้งเตือนไปให้ผู้รับผิดชอบการควบคุมวงโคจรของดาวเทียมไทยโชตได้ในทุกๆวัน
.
ในช่วงปี 2565 เราได้ใช้ ZIRCON แจ้งเตือนประชาชนในเหตุการณ์ชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลก อาทิ ชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช5บี เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช5บี วาย4 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ถือเป็นบทพิสูจน์ได้ถึงความแม่นยำของระบบ ZIRCON ที่สามารถวิเคราะห์ คาดการณ์จุดตกได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เทียบเท่าหน่วยงานจากต่างประเทศ
.
ทั้งนี้ ปัจจุบัน GISTDA กำลังเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการบริการจาก ZIRCON ให้กับเจ้าของดาวเทียมในประเทศไทย และมีแผนที่จะจะขยายการให้บริการไปยังเจ้าของดาวเทียมในต่างประเทศ
.
การพัฒนาในอนาคตศูนย์วิจัยฯ อาจจะเสริมประสิทธิภาพให้กับ ZIRCON ให้รองรับการทำงานที่จะมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และต่อยอดไปถึงเรื่องการติดตามวัตถุอวกาศที่ตกกลับสู่โลก (Re-entry) อุกกาบาต (Asteroid) รวมไปถึงสภาพอวกาศ (space weather) ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ประเทศไทย
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #theos2 #แจ้งเตือน #วัตถุอวกาศ #การจัดการจราจรอวกาศ #ZIRCON #ดาวเทียมไทยโชต #ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ #วิถีโคจร

phakpoom.lao 30/1/2023 0
Share :