Head GISDTDA

GISTDA จัดการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้ “โครงการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Economy)”

GISTDA จัดการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้
“โครงการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Economy)”

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับบริษัท ฟิกส์ แอสโซซิเอท จำกัด จัดสัมมนาภายใต้ “โครงการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Economy)” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) ณ ห้องพระอินทร์ 1-2 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแผนและเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ การกระตุ้นทุกภาคส่วนให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศด้านอวกาศในประเทศไทย เพื่อนำข้อคิดเห็น แนวทางไปจัดทำแผนพัฒนาและนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 90 คน จาก 40 หน่วยงาน เข้าร่วม

ทั้งนี้ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้กล่าวถึงความสำคัญและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศในอนาคต และนำเสนอวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน New Space Economy 5 ด้าน ได้แก่ การใช้อวกาศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  การใช้อวกาศเพื่อลดช่องว่างของการใช้ดิจิทัล  การใช้อวกาศเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล การเป็นศูนย์กลางด้านอวกาศของอาเซียน และการใช้อวกาศเพื่อมนุษยชาติในอนาคต โดยที่ปรึกษาได้มีการนำเสนอแนวโน้มของอุตสาหกรรมอวกาศ โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพแล้วในปัจจุบัน โดยดำเนินให้เป็นอุตสาหกรรม Class A ที่ผู้ประกอบการในไทยเป็นผู้เล่นหลัก อุตสาหกรรม Class B เป็นอุตสาหกรรมที่หลายประเทศดำเนินการแล้วและประเทศไทยมีโอกาสที่จะลงทุนได้เมื่อมีความพร้อม และอุตสาหกรรม Class C เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสในอนาคตในระยะยาว

นอกจากนี้การสัมมนานี้ได้จัดประชุม Focus Groups ของกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศใหม่ โดยประเด็นสำคัญที่รัฐควรต้องสนับสนุน เช่น กองทุนและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านอวกาศ Supply and Demand ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศในระยะยาว และสุดท้ายได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากอวกาศ เช่น การสำรวจ การติดตามทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อการเดินเรือ หรือการขนส่งทางทะเล การติดตามการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission

Nattakarn Sirirat 21/11/2566 0
Share :