Head GISDTDA

GISTDA ถวายรายงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การจัดการเชิงพื้นที่ กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม 2560  ณ ที่ทำการกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” บ้านเกาะแก้ว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศและคณะ ถวายรายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสนับสนุนการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์” โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา GISTDA ร่วมกับ สำนักสารสนเทศ มูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ภาพจากดาวเทียมรายละเอียดสูงหลายช่วงเวลา ติดตามสระน้ำพระราชทาน ที่สมเด็จพระรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานงบประมาณในการขุดสระ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและเป็นแหล่งน้ำ สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร รวมทั้งได้การจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร สระน้ำพระราชทาน และการใช้ประโยชน์ที่ดินขอบสระและแปลงเพาะปลูกของกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผ่าน GMIS หรือระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ GISTDA ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้บริหารและจัดการโครงการ โดยในปี 2559 - 60 ได้ดำเนินการไปแล้ว 4 กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ประกอบด้วย
1. กลุ่มบ้านหนองไผ่ ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ มีฐานข้อมูลสมาชิก 61 ราย มีสระน้ำที่ได้รับพระราชทานจำนวน 93 สระ
2. กลุ่มบ้านกุง ต.สำโรงทาบ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ มีฐานข้อมูลสมาชิก 19 ราย มีสระน้ำที่ได้รับพระราชทานจำนวน 18 สระ บ่อบาดาล 1 บ่อ
3. กลุ่มบ้านขอนแก่น ต.หนองฮะ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ มีฐานข้อมูลสมาชิก 33 ราย มีสระน้ำที่ได้รับพระราชทานจำนวน 26 สระ
4. กลุ่มบ้านเกาะแก้ว ต.เกาะแก้ว อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ มีฐานข้อมูลสมาชิก 62 ราย มีสระน้ำที่ได้รับพระราชทานจำนวน 53 สระ
โดยในปัจจุบัน สระพระราชทาน สามารถใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ที่จะนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ใช้เป็นแหล่งอาหารเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ปลานิลพระราชทาน รวมทั้งใช้รดพืช ผักสวนครัว และไม้ผล ที่ทรงพระราชทาน สร้างรายได้และเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับสมาชิก
นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และสำนักสารสนเทศ มูลนิธิชัยพัฒนาได้ ร่วมกับ GISTDA ดำเนินโครงการภายใต้บันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและระบบ GMIS บริหารจัดการเชิงพื้นที่ของกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” โดยเลือกกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน บ้านเกาะแก้ว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี (เมษายน 2560 – มีนาคม 2561) ผลสำเร็จของโครงการ สามารถขยายผลไปสู่กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทานอื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์  และโครงการต่างๆของมูลนิธิชัยพัฒนาทั่วประเทศ จุดเด่นของกลุ่ม คือ กลุ่มมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมาชิกทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรายได้สุทธิของสมาชิก สามารถวัดความสำเร็จของโครงการได้เนื่องจากสมาชิกมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการ
ในพื้นที่ต้นแบบนี้ GISTDA จะดำเนินการสนับสนุนข้อมูลภาพดาวเทียมรายละเอียดสูง ภาพจากโดรน UAV และข้อมูลภูมิสารสนเทศอื่นๆ รวมทั้งพัฒนา Application บนมือถือ (Smartphone) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สมาชิกกลุ่ม สามารถรายงานผลการเพาะปลูก ค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และวางแผนการเพาะปลูกได้ในอนาคต โดยจะเริ่มพัฒนาในปีการเพาะปลูก 2560 และจะเริ่มใช้รายงานผลได้ในฤดูการเพาะปลูก 2561 เป็นต้นไป โดยในปี 2560 ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร แผนที่รายแปลง และบัญชีรายรับรายจ่ายของกลุ่ม ในปีการเพาะปลูก 2559 ของสมาชิก ทั้ง 62 รายแล้วเสร็จ โดยกลุ่มมีรายรับจำนวน 2,084,605.50 บาท บาท รายจ่ายจำนวน 1,338,830 บาท และเมื่อหักลบแล้วกลุ่มมีรายได้สุทธิจำนวน 745,775.50 บาท

Admin 30/5/2560 0
Share :