Head GISDTDA

รู้จักกับ “Starship” อนาคตยานสำรวจภารกิจท่องจักรวาล

จะเป็นอย่างไร หากมนุษย์สามารถเดินทางสู่เป้าหมายต่าง ๆ ในระบบสุริยะได้ เหมือนกับการเดินทางข้ามทวีปด้วยเครื่องบินในปัจจุบัน?

 

นั่นคือแนวคิดในอุดมคติสำหรับจรวด “สตาร์ชิป” (Starship) ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยบริษัท SpaceX เพื่อรองรับภารกิจส่งมนุษย์และยานอวกาศออกไปสำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร จุดหมายปลายทางต่าง ๆ ในระบบสุริยะ พร้อมกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการเดินทางบนโลกใบนี้

 

Starship แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ บูสเตอร์ “ซูเปอร์เฮฟวี” (Super Heavy) ที่ถือเป็นจรวดส่วนแรก และระบบขับดันหลักเพื่อนำพาส่วนยาน Starship ในท่อนบนเดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งยานส่วนนี้ยังสามารถแบ่งได้เป็นหลาย เช่น ประเภทสำหรับมนุษย์โดยสาร ประเภทขนส่งดาวเทียม หรือเติมเชื้อเพลิงในอวกาศ

 

สิ่งที่ Starship จะแตกต่างจากจรวดรุ่นก่อนหน้านี้ คือความสามารถในการนำทั้งสองส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง แม้ในอดีตจะมีกระสวยอวกาศของ NASA ที่กลับมาลงจอดได้เหมือนกับเครื่องบิน พร้อมกับมีจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ก็ยังต้องทิ้งถังเชื้อเพลิงเหลวไประหว่างขึ้นบินสู่วงโคจร ซึ่งหากทำได้สำเร็จ จะทำให้ SpaceX สามารถส่ง Starship ขึ้นบินได้บ่อยครั้งในราคาที่ถูกลง คล้ายกับที่จรวด Falcon 9 สามารถทำได้สำเร็จ และปฏิวัติราคาการขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ที่มีราคาถูกอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

ด้วยความสูงรวม 121 เมตร และแรงขับสูงสุด 74.4 ล้านนิวตัน ทำให้ Starship เป็นจรวดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยขึ้นบิน โดยมีเที่ยวบินทดสอบครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2023 ตามด้วยภารกิจทดสอบครั้งที่สองในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2023 แม้ว่า Starship จะไปไม่ถึงวงโคจรรอบโลกระหว่างการทดสอบทั้งสองครั้ง แต่ข้อมูลจากการทดสอบดังกล่าว สามารถเป็นบทเรียนเพื่อให้วิศวกรของ SpaceX นำมาพัฒนาต่อในการทดสอบครั้งต่อไปได้สำเร็จ ซึ่งเป็นวิถีการทำงานและพัฒนายานต่าง ๆ ของพวกเขามาโดยตลอด

 

ในอนาคตข้างหน้า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ Starship คือการรับผิดชอบภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ ในส่วนหนึ่งของภารกิจ “อาร์ทีมิส 3” (Artemis 3) ของ NASA ที่มีกำหนดส่ง 2 นักบินอวกาศเดินทางไปลงดวงจันทร์ในเดือนกันยายน 2026 ซึ่งจะเป็นโมเดลที่ถูกดัดแปลงมาเพื่อใช้กับการลงจอดและขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์โดยเฉพาะ

 

หลังจากนั้น SpaceX มีแผนใช้ Starship กับภารกิจขนส่งดาวเทียม ยานอวกาศ รวมถึงพามนุษย์เดินทางไปสู่ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และเป็นไปได้ว่ายาน Starship ที่ได้รับการเติมเชื้อเพลิงในวงโคจร จะสามารถส่งยานอวกาศเดินทางไปถึงดาวเคราะ์ชั้นนอกของระบบสุริยะอย่าง ยูเรนัส และ เนปจูน ได้โดยตรง ร่นระยะเวลาเดินทางลงไปได้หลายปี เช่นเดียวกับส่งภารกิจไปเก็บตัวอย่างหินจากเป้าหมายในระบบสุริยะได้ไกลกว่าเดิม

 

นอกจากการเดินทางสู่อวกาศ Starship ยังอาจถูกใช้สำหรับการเดินทางแบบ “Point-to-point” จากจุดหนึ่งสู่อีกจุดหนึ่งบนโลกของเรา เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทาง เช่น เที่ยวบินจาก สิงคโปร์ ไป นิวยอร์ค ที่ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 18 ชั่วโมง ด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ให้เหลือเพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมง ด้วยการใช้ยาน Starship เดินทางแบบ Sub-orbital ไปลงจอดที่เมืองจุดหมายปลายทาง

 

หากแผนการเดินทางแบบ “Point-to-point” เกิดขึ้นจริง อาจเป็นผลดีสำหรับการสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย เพื่อใช้รองรับทั้งภารกิจออกเดินทางสู่อวกาศ หรือเที่ยวบินเดินทางข้ามทวีปด้วยจรวดในอนาคต จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทย เช่นเดียวกับโอกาสที่อาจเกิดขึ้นต่อภาครวมของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ร่วมกับหน่วยงานจากนานาประเทศ


เมื่อมนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมุ่งหน้าออกสู่ดวงดาว นอกจากความยิ่งใหญ่ ความตื่นเต้น และข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้รับมาแล้ว ยังมีผลพลอยได้ในระหว่างทาง ที่สามารถเป็นประโยชน์ให้กับทุกชีวิตบนโลก เช่นเดียวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างการพัฒนา Starship ของ SpaceX และการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่จากหน่วยงานต่าง ๆ ในตอนนี้

phasaphong.tha 29/1/2567 0
Share :