Head GISDTDA

ภารกิจ ASIA-AQ ความร่วมมือ NASA-GISTDA นำวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาประเทศ

 

หากพูดถึงเรื่องของวิทยาศาสตร์ อวกาศ หรือเอ่ยชื่อหน่วยงานอย่าง NASA ภาพจำหลักที่หลายคนคุ้นชิน อาจเป็นภารกิจการสำรวจจักรวาล มองออกไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ที่ไกลออกไปในเอกภพ

 

แต่ความจริงแล้ว โลก เป็นดาวเคราะห์ที่ NASA มีการศึกษาและสำรวจมากที่สุด โดยมีไม่น้อยกว่า 26 ภารกิจอยู่ในวงโคจร เช่นเดียวกับการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อตรวจดูมหาสมุทร แผ่นดิน น้ำแข็ง และบรรยากาศของดาวเคราะห์สีครามดวงนี้

 

และในระหว่างวันที่ 16-26 มีนาคม 2024 เครื่องบิน DC-8 และ G-III ของขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ได้ร่วมขึ้นบินศึกษาบรรยากาศ และตรวจวัดปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพอากาศในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ

 

โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง NASA กับ NIER หรือสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเกาหลีใต้ ที่ได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ GEMS หรือ Geostationary Environment Monitoring Spectrometer สำหรับตรวจดูมลภาวะของประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียได้ระดับรายชั่วโมง โดยออกเดินทางขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้าไปกับดาวเทียม GEO-COMPSAT-2B ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020

 

นอกจากอุปกรณ์ GEMS เหนือทวีปเอเชีย ยังมีอุปกรณ์ TEMPO ของ NASA ที่ติดไปกับดาวเทียม Intelsat 40e เพื่อตรวจดูมลภาวะเหนือทวีปอเมริกาเหนือ เช่นเดียวกับดาวเทียม Sentinel-4 ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่อยู่ในระหว่างการผลิต ก่อนนำส่งขึ้นไปตรวจดูคุณภาพอากาศและมลภาวะเหนือบริเวณทวีปยุโรป

 

แต่เพราะข้อมูลจากดาวเทียมอย่างเดียว ไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับมลภาวะหรือคุณภาพอากาศทั้งหมดได้ จึงทำให้โครงการ ASIA-AQ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง NASA, NIER และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จะมีการขึ้นบินของเครื่องบิน DC-8 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ห้องปฏิบัติการลอยฟ้า” และเครื่อง G-III ของ NASA เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจวัดคุณภาพอากาศตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย

 

เครื่องบิน DC-8 จะอาศัยการบินโฉบลงใกล้กับรันเวย์ของสนามบินต่าง ๆ อาทิ สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ สนามบินจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย แพร่ และเชียงใหม่ เพื่อลงเก็บตัวอย่างคุณภาพอากาศเหนือระดับพื้นดิน ที่ความสูงประมาณ 20 ฟุตเหนือรันเวย์ ก่อนไต่ระดับความสูงไม่เกินเพดาน 15,000 ฟุต (ตัวเครื่องสามารถบินได้สูงสุด 42,000 ฟุต ด้วยระยะเวลารวม 12 ชั่วโมงต่อเที่ยวบิน) เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากตำแหน่งและระดับความสูงต่าง ๆ มารวมกับการตรวจวัดของดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน

 

ในเวลาเดียวกัน เครื่องบิน G-III จะรักษาเพดานบินไว้ที่ความสูงไม่น้อยกว่า 28,000 ฟุต ตลอดทั้งช่วงการขึ้นบิน ด้วยภารกิจการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศ และตรวจดูแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก ก่อนส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจถึงองค์ประกอบและคุณภาพอากาศในท้องที่ต่าง ๆ และนำไปบูรณาการแก้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศในประเทศ

 

ความร่วมมือระหว่าง NASA, NIER และ GISTDA ในโครงการ ASIA-AQ นั้นสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืออว. ที่ต้องการผลักดันนโยบายให้สามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง โดยนอกจากการขึ้นบินศึกษาคุณภาพอากาศ ยังมีกิจกรรมและความร่วมมือระหว่าง NASA กับ GISTDA เพิ่มเติม ทั้งการอบรวม ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ไปจนถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศ

 

NASA และ GISTDA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ NARIT, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยศิลปากร, และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะร่วมกันวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจากทั้งดาวเทียม เครื่องบิน และสถานีตรวจวัดภาคพื้น ก่อนเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากโครงการออกสู่สาธารณะภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปีจากวันนี้ พร้อมกับเป็นแนวทางในการติดตามสถานการณ์จากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับการออกนโยบายและวางแผนบริหารจัดการมลพิษทางอากาศในไทย

 

เทคโนโลยีอวกาศ ที่ช่วยให้มนุษย์มองไปไกลสุดขอบจักรวาล ค้นพบโลกใบใหม่มากมาย ก็ยังช่วยให้เราทำความเข้าใจโลกใบนี้ได้ดีกว่าเดิม และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยหาวิธีการดูแล ปกปักรักษา บ้านหลังเดียวของมนุษย์ไปอีกตราบนาน

phakpoom.lao 25/3/2567 228 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง