Head GISDTDA

GISTDA นำระบบ G-Rice Thungkula จัดแสดงในงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 18 ประจำปีงบประมาณ 2561 ของจังหวัดร้อยเอ็ด

วันที่ 15 - 17 ธันวาคม 2560 ณ ลานสาเกตุนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดงาน “เทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 18 ประจำปีงบประมาณ 2561 ขึ้น ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ศวภ.2) ได้ร่วมกับ Gistda นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปจัดแสดง โดยได้นำ “ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการข้าวพื้นที่ทุ่งกุลา หรือ G-Rice Thungkula" http://g-rice.gistda.or.th ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบเพื่อการจัดการข้าวเชิงพื้นที่ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร จังหวัดมหาสารคาม ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 – 2564 โดยในปี 2560 ได้ดำเนินการพัฒนา ในระยะที่ 1 ส่วนของระบบจัดการฐานข้อมูลแปลงเพาะปลูก นำร่องในพื้นที่ทุ่งกุลาของจังหวัดร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่ 986,807 ไร่ ของ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอหนองฮี และอำเภอโพนทราย G-Rice ในระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้าวในลักษณะ Area Based ในรูป Web Application ให้บริการผ่านแผนที่ออนไลน์ (Web Map Service) สามารถนำเข้า ค้นหา แก้ไข ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร แปลงเพาะปลูก ผลผลิต กิจกรรมการเพาะปลูกข้าวรายแปลงแบบออนไลน์ ให้บริการผ่านระบบ Cloud Server ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลแปลงเพาะปลูกข้าวหอมมะลิไปแล้ว จำนวน 136,095 แปลง เพื่อเป็นข้อพื้นฐานที่สำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า นำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การนี้ ในวันศุกร์ ที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลาประมาณ 17.00 – 19.30 น. มีพิธีเปิดงาน นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดและคณะผู้บริหาร และหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ดได้ให้ความสนใจเยี่ยมชมนิทรรศการและดูการสาธิตการใช้งานระบบ G-Rice นอกจาก ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการข้าวพื้นที่ทุ่งกุลา แล้ว Gistda ยังได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศอื่นๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ด้านการเกษตร ไปร่วมจัดแสดงประกอบด้วย

• สถานีตรวจอากาศเพื่อการเกษตร

• ระบบตรวจสอบ ติดตามกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์การเกษตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยเทคโนโลยี QR Code

• ระบบรายงานการเพาะปลูก ผลผลิต และกิจกรรมการเพาะปลูก

• คลิ๊กปุ๊บ...รู้ปั๊บ กับเกษตรอัฉริยะ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากเกษตรกร กลุ่ม Young Smart Farmer กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั้งในและนอกเขตพื้นที่ทุ่งกุลา และกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดอื่นๆ ตลอดจน สมาคมการค้าข้าวหอมมะลิไทย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ต้องนำระบบไปใช้ในการจัดการข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลก ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และพัฒนาข้าวหอมมะลิได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Admin 15/12/2017 0
Share :