Head GISDTDA

"WATER" ที่ไม่ได้แปลว่า “น้ำ” แต่เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับดาวเทียม

แค่เกริ่นนน...ชื่อขึ้นมา แอดมินเชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสงสัยอย่างแน่นอนว่า “WATER” ที่เรากล่าวถึงนี้จะเกี่ยวข้องกับดาวเทียมได้อย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง และที่สำคัญชื่อนี้ไม่ได้แปลว่า “น้ำ” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แอดมินไม่รอช้า..อาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของชื่อนี้กันดีกว่าครับ

 

“WATER”  ในที่นี้มีที่มาที่ไป แท้จริงแล้วย่อมาจาก “Wise Antenna of Transmission Execution & Receiving System” เป็นโครงการพัฒนาจานสายอากาศความถี่ S-Band ต้นแบบ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง GISTDA และพันธมิตรต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มหาวิยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตตาก รวมไปจนถึงผู้ประกอบการภายในประเทศ ร่วมกันพัฒนาจนประสบความสำเร็จในการสร้างระบบจานสายอากาศสำหรับติดต่อสื่อสารย่านความถี่ S-band (ย่านความถี่ 2 GHz) ภายใต้ชื่อ WATER ซึ่งเป็นการปลดล๊อคการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำบทเรียนและประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานภายใต้โครงการ THEOS-1 มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบจานสายอากาศจนประสบความสำเร็จนั่นเอง

WATER เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ระบบจานสายอากาศ WATER ได้ปฏิบัติภารกิจรับ-ส่งสัญญาณควบคุมดาวเทียมไทยโชต เป็นครั้งแรกแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญของการพัฒนาระบบจานสายอากาศแบบ Tracking ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศและสามารถใช้ติดต่อสื่อสารดาวเทียมได้โดยเคลื่อนที่ในอวกาศที่ความเร็วประมาณ 25,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และปัจจุบันสามารถใช้ทดแทนระบบจานสายอากาศเดิมที่ส่งมอบพร้อมกับโครงการ THEOS-1 ด้วยนะครับ

ลักษณะของระบบจานสายอากาศ WATER จะรองรับช่วงคลื่นความถี่ S-Band หน้าจานอากาศมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.1 เมตร และมีกำลังส่งไม่เกิน 100 W จึงสามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อส่ง-รับสัญญาณควบคุมดาวเทียม THEOS ทั้งนี้...ระบบจานสายอากาศยังถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับดาวเทียมภายใต้โครงการ THEOS-2 อีกจำนวน 2 ดวงอีกด้วย นั่นก็คือ THEOS-2 Main Sat และ Small Sat ครับ 

ด้านการให้บริการดาวเทียมต่างประเทศ ระบบจานสายอากาศ WATER ได้ให้บริการติดต่อสื่อสารกับดาวเทียม GEO-KOMPSAT-2A (GK-2A) และ GEO-KOMPSAT-2B (GK-2B) ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติเกาหลี ตั้งแต่ปี พ.ศ 2561 ถึงปัจจุบัน โดยดาวเทียมดังกล่าวโคจรในระดับวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Earth Orbit: GEO) นอกจากนี้ GISTDA ยังมีแผนที่จะให้บริการดาวเทียม ELSA-D ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่น ภายในปี 2564 โดยเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ กับ บริษัท Swedish Space Corporation (SSC) ประเทศสวีเดน และรวมไปถึงกลุ่มดาวเทียมอื่นๆที่กำลังพัฒนาอีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
น.ส. จารุณี ขุนจันทร์
วิศวกรชำนาญการ
กลุ่มปฏิบัติการดาวเทียม ภายใต้กลุ่มภารกิจพิเศษปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน GISTDA

#GISTDA  #จิสด้า  #จิสด้าก้าวสู่ปีที่21  #ดาวเทียม #ความร่วมมือ

Admin 14/7/2021 1880 1
Share :