Head GISDTDA

ถ่ายทอดประสบการณ์เด็กไทยคนแรก! “มอส” วรวุฒิ จันทร์หอม กับผลงานทดลองใน “อวกาศ”

 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดสัมภาษณ์พิเศษ “มอส” นายวรวุฒิ จันทร์หอม วัย 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

เจ้าของผลงาน “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero gravity)” ที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) ในโครงการ “Asian Try Zero-G 2016” ของ สวทช. และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เพื่อให้ นายทะคุยะ โอะนิชิ (Takuya Onishi) มนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่น นำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)  เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา พร้อมเปิดโอกาสให้ “มอส” ได้เข้ารับชมการถ่ายทอดสดการทดลองผลงานของตัวเอง ที่มนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่นนำไปใช้ บนสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น

รวมทั้งยังได้ร่วมทำกิจกรรมหลักสูตรการฝึกเป็นมนุษย์อวกาศระยะสั้น 1 วัน ร่วมกับเยาวชนจาก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์

นายวรวุฒิ จันทร์หอม เริ่มต้นถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งนี้ว่า ตนเองเป็นคน อ.เถิง จ.เชียงราย เรียนชั้น ม.ต้นที่โรงเรียนเถิงวิทยาคม จบ ม.ปลายที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ส่วนภูมิภาค มีพี่ชาย 1 คนเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ ตนเองเป็นคนสุดท้อง พ่อแม่มีอาชีพทำนา

จุดเริ่มต้นที่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ เกิดจากครู ตอนอยู่ชั้น ม.1 ครูที่สอนวิทยาศาสตร์จะเข้มเรื่องการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มาก ทำให้ตนเองสนใจ จริงๆแล้วอยากเข้าร่วมโครงการกับ สวทช.มาตั้งแต่เรียนอยู่ ม.2 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก มาได้ตอนที่เรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย เป็นโครงการพัฒนาอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รุ่นที่ 16 ได้รับทุนงานวิจัยถึงระดับปริญญาเอก “เจเอสซีพี” และต่อยอดมาเรื่อย

พอเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ที่เลือกเรียนภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนั้น แต่เดิมอยากเข้าเรียนวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่พอศึกษาดูแล้วเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จึงเลือกเรียนที่ มจธ. เพราะมีการวิจัยมาก การที่เข้ามาเรียน มจธ. ถือว่ามาเรียนถูกทางแล้ว ตรงกับที่เราชอบ เพราะเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ

ส่วนที่ส่งผลงาน “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero gravity)” เข้าประกวดในช่วงเรียนชั้นปี 1 เทอม 2 นั้น

ทาง สวทช.บอกว่าในประเทศไทยมีผู้สมัครทั้งหมด 24 ทีม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ อายุต่ำกว่า 19 ปี ทีม 1 จะกี่คนก็ได้  และอายุ 19 ปีขึ้นไป การส่งผลงานต้องคนเดียวเท่านั้น ซึ่งตนอยู่ในกลุ่มอายุ 19 ปีขึ้นไป มีผู้สมัครเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น จากนั้นได้ส่งผลงานไปและมีอีเมลตอบกลับมาจาก สวทช.ว่า ทางแจ็กซ่า ประเทศญี่ปุ่นได้คัดเลือกผลงานของตน และเป็น 1 ใน 6 ผลงานของเอเชียแปซิฟิก

ซึ่งประเทศไทยเป็นทีมเดียวหรือคนเดียวที่ได้รับเลือกให้ร่วมเข้าไปชมและปฏิบัติร่วมกับเยาวชนอีก 4 ประเทศ ซึ่งตนรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมาก เพราะจะได้เห็นของจริง และยังได้สื่อสารกับนายทะคุยะ มนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่น ที่เดินทางไปอยู่บนสถานีอวกาศได้เพียง 49 วัน ซึ่งระยะเวลาที่เขาอยู่บนอวกาศกำหนด 1 ปี

นอกจากนี้ ตนยังมีโอกาสใส่ชุดนักบินอวกาศที่ต้องมีการสื่อสารกับมนุษย์อวกาศญี่ปุ่น สำหรับเยาวชนอีก 4 ประเทศ เป็นเด็กระดับมัธยมศึกษา ซึ่งไม่มีใครอยากใส่เนื่องจากต้องมีการสื่อสารมาก และต้องออกไปปฏิบัติจริงด้วย ตนเข้าใจว่าทุกคนกลัวว่าจะทำไม่ถูก อีกอย่างตนอายุมากสุด พอได้ปฏิบัติแล้วยอมรับว่า ยากจริงๆ

เพราะเราต้องฟังจากห้องควบคุมที่อยู่ในอวกาศว่า ต้องทำแบบไหน อย่างไร ซึ่งเราจะต้องทำไปด้วย ฟังไปด้วย การสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษหมด แต่ก็ทำได้ ขอให้มีความกล้า เชื่อมั่น และยังเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่รู้สึกดีใจ และภูมิใจที่เราตัดสินใจไม่ผิด

ช่วงๆ แรกบอกเลยว่า กลัวมาก เพราะเราใส่ชุดขาวอยู่คนเดียว ส่วนน้องๆ ใส่ชุดส้มกันหมด เมื่อเห็นนักบินอวกาศสื่อสารกับเราว่า ผลการทดลองของเรานั้น เมื่อของเหลวอยู่ในอวกาศมีลักษณะผิวที่โค้งขึ้น หากอยู่บนโลกพื้นผิวของน้ำจะตรง แสดงว่าแรงจีต้องมีปฏิกิริยาอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำให้พื้นผิวน้ำตรงนั้นโค้ง

ส่วนน้ำมัน ผมก็สังเกตเห็นว่าโค้งลงอย่างหนัก เพราะผมได้เห็นภาพจากห้องควบคุมและการสื่อสาร ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจ เรื่องนี้ต้องมีการมาช่วยกันหาคำตอบหรือศึกษากันต่อไป

และอยากให้มีโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นจุดที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้กล้าแสดงความคิดเห็นออกมา เพราะปัจจุบันประเทศไทย เด็กไทยถูกบล็อกความคิด เพราะครูก็จะบอกว่าเป็นความคิดของเด็ก หากคิดนอกกรอบแล้วเป็นไปไม่ได้ ก็จบ โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึก

“แต่หากถามผม อาจจะเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ หากเรายังไม่ได้ลงมือทำ เราก็ไม่สามารถสรุปได้ แต่ครูส่วนใหญ่สรุปแล้วว่า ไม่ได้ แบบนี้ก็จบ เหมือนเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างหนึ่ง เราสงสัยแต่มาตัดความคิดของเรา ก็เสียความรู้สึก”

“มอส” อธิบายต่อถึงผลงาน “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero gravity)” ว่า จุดเริ่มต้นของการทดลองผลงานนี้มาจากการทำ Lab เคมีในห้องเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งผมสังเกตว่าของเหลวที่อยู่ในภาชนะกระบอกตวง เมื่อใส่ลงในภาชนะจะเห็นว่า ผิวของน้ำจะมีลักษณะแตกต่างกัน บางผิวมีลักษณะเว้าขึ้น บางผิวมีลักษณะเว้าลง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านข้อมูล เมื่อไปถามอาจารย์จะบอกว่า ให้อ่านค่าด้านล่าง ซึ่งผมก็ยังไม่แน่ใจ

ผมจึงเริ่มหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการทดลองในครั้งนี้ และพบว่าความเว้านูนของน้ำขึ้นอยู่กับแรง adhesive และ cohesive ซึ่งในสมการจะมีแรงเนื่องจากแรงโน้มถ่วงอยู่ในสมการ ผมจึงสงสัยว่าถ้าทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก ลักษณะของผิวของเหลวจะเป็นอย่างไร โดยการทดลองจะนำของเหลวต่างชนิดกันมาบรรจุในเข็มฉีดยา (Plastic syringe) จากนั้นสังเกตผิวของของเหลวแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทดลองบนโลก                                                 

ภายหลังมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่นอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ได้นำไปทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ผมก็ยิ่งเห็นว่า จากของเหลว 3 ชนิด ได้แก่ น้ำเปล่า น้ำผลไม้ และน้ำมัน เมื่อสังเกตลักษณะพื้นผิวของเหลวทั้งสามชนิดบนพื้นโลก พบว่า น้ำเปล่าและน้ำผลไม้ เมื่อบรรจุใน (เข็มฉีดยาพลาสติก) มีลักษณะพื้นผิวที่ราบเรียบ ไม่มีการโค้งนูน ส่วนน้ำมัน มีลักษณะพื้นผิวที่เว้าลงเล็กน้อย

แต่เมื่อนำไปทดลองบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง พบว่าน้ำเปล่าและน้ำผลไม้ มีลักษณะโค้งขึ้นเล็กน้อย ซึ่งมีความแตกต่างจากบนโลก ส่วนน้ำมัน มีลักษณะโค้งลงอย่างเห็นได้ชัด จึงสรุปได้ว่าของเหลวทั้งสามชนิดเมื่ออยู่ในสภาวะที่แตกต่างกันจะมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะพื้นผิวที่ไม่เหมือนกัน

จากการทดลองในครั้งนี้ได้พบอีกว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการโค้งนูนของของเหลวมีหลายปัจจัย คือ ชนิดของของเหลว ความเข้มข้นของของเหลว เส้นผ่านศูนย์กลางของภาชนะที่บรรจุของเหลว และชนิดของภาชนะที่บรรจุ หลังจากการทดลองได้ทราบว่า ผลการทดลองเป็นไปตามสมมติฐานที่ได้ตั้งไว้ และจะเป็นการต่อยอดในการสร้างสมการใหม่ต่อไป

“มอส” นายวรวุฒิ จันทร์หอม ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นอย่าเชื่อในสิ่งที่เขาบอก แต่ต้องลงมือปฏิบัติทำจริง ส่วนอาจารย์ก็จะเป็นผู้ให้คำแนะแนวทางเราได้ แต่เรื่องของวิทยาศาสตร์นั้น ไม่มีอะไรผิด อะไรถูก เราต้องลงมือทำเอง แล้วจะเห็นผล

Admin 21/9/2016 0
Share :