Head GISDTDA

ค่าดัชนี AQI และ PM2.5 แตกต่างกันอย่างไร ?

     หลังจาก GISTDA ได้เริ่มนำเสนอสถานการณ์ฝุ่นให้ทราบควบคู่ไปกับจำนวนจุดความร้อนอย่างที่ได้นำเสนอมาโดยตลอดทุกวันผ่านช่องทาง Facebook fanpage และบนเว็ปไซต์ gistda.or.th จนเมื่อไม่นานมานี้มีแฟนเพจท่านหนึ่งส่งข้อความเข้ามาถามเกี่ยวกับตัวเลขของคุณภาพอากาศ ว่าตัวเลขและสีที่แสดงผลนั้นมันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แอดมินเองก็พลอยนึกถึงตัวเองในอดีตว่าเคยสับสนกับความหมายของสีและตัวเลขเหล่านี้เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเก่าแต่ก็คิดว่าอาจมีแฟนเพจบางส่วนที่ยังสับสนอยู่บ้าง ฉนั้นบทความนี้จะขออธิบายเกี่ยวกับค่าดัชนีของคุณภาพอากาศให้เพื่อนๆ พี่ๆ ได้เข้าใจตรงกัน

     คำว่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (Air Quality Index : AQI) เป็นคำที่ใช้แทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ,ฝุ่นละอองไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ,ก๊าชคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ,ก๊าซโอโซน (O3) ,ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) (แหล่งที่มา : กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

     AQI ของไทยนั้นถูกแบ่งออกเป็น 5 ระดับ โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน เริ่มจากสีฟ้า เขียว เหลือง ส้ม และแดง ตามลำดับ ค่าของดัชนี AQI นี้จะเริ่มตั้งแต่ 0 ไปจนถึงมากกว่า 200 โดยค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศโดยทั่วไปของบ้านเราจะอยู่ที่ 100 แต่หากสูงกว่า นั่นหมายถึงมลพิษทางอากาศที่เกินมาตรฐาน ซึ่งในแต่ละระดับสามารถจำแนกได้ดังนี้

     ส่วนคำถามที่ว่าค่าดัชนีคุณภาพอากาศและ PM2.5 แตกต่างกันอย่างไร ข้อแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าใน 1 ค่าดัชนี AQI นั้นเป็นการรายงานภาพรวมของคุณภาพอากาศที่ประกอบไปด้วยสารมลพิษทั้ง 6 อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนค่า PM2.5 นั้นเป็นเพียงหนึ่งในพารามิเตอร์ที่นำมาใช้ในการคำนวณเพื่อให้ได้ค่า AQI ขึ้นมา ซึ่งความเข้มข้นของฝุ่นจิ๋วนี้หรือสารมลพิษอื่นๆ ก็ถูกแบ่งเป็นความรุนแรงต่อสุขภาพไว้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หาก AQI อยู่ที่ 51 หมายถึงคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง แต่ถ้าเป็น PM2.5 ที่ค่า 51 จะหมายถึงอยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าในแต่ละช่วงและชนิดของสารมลพิษอื่นๆ สามารถแยกตามระดับได้ดังนี้

     ข้อที่สอง ต้องรู้ว่าเรากำลังอ่านค่าด้วยเกณฑ์ใด เนื่องจากดัชนีคุณภาพอากาศนั้นมีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน เพราะประเทศไทยแบ่งสีเป็น 5 ระดับ ในขณะที่ AQI ของ U.S. EPA หรือ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency) นั้นมีการแบ่งที่ 6 ระดับ ทำให้แอปพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศมีการแสดงผลที่แตกต่างกันออกไปตามเกณฑ์ที่ตัวเองใช้

เกณฑ์วัดคุณภาพอากาศของ U.S. EPA

     คำถามต่อมา นอกจากสีที่ต่างกันแล้ว ทำไมตัวเลขถึงแตกต่างกันอีกด้วย..? นั่นเป็นเพราะในการหาค่าดัชนีของประเทศไทยและองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (U.S. EPA) นั้นมีสูตรคำนวณที่แตกต่างกัน อีกทั้งในการแสดงผลของค่าต่างๆ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษนั้นเป็นการรายงานทุกๆ 1 ชั่วโมง โดยเป็นผลของค่าเฉลี่ย 24 ชม. ก่อนหน้า ซึ่งจะแตกต่างจากตัวเลขในแอปพลิเคชันของต่างประเทศที่ใช้การรายงานในรูปแบบใกล้เคียงเวลาจริง (Realtime) ทั้งจากสถานีตรวจวัดหรือเครื่องตรวจวัดอื่นๆ ที่ช่วยกันติดตั้งโดยองค์กรหรือประชาชนกระจายในหลายพื้นที่มากมายหลายพันจุด หากจุดไหนพบความเข้มข้นของสารมลพิษพุ่งสูงเกินมาตรฐานก็จะแสดงผลทันทีในช่วงเวลานั้นๆ นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมค่าคุณภาพอากาศของไทยไม่เท่ากับต่างประเทศ

     และหากแฟนเพจท่านใดที่กำลังมองหาแอปพลิเคชันในการรายงานคุณภาพอากาศอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) แอดมินขอแนะนำ APP ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “เช็คฝุ่น” โดยเกิดจากความร่วมมือกันพัฒนาระหว่างสามหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ GISTDA แอปนี้สามารถที่จะวิเคราะห์ คำนวณค่าฝุ่นได้ในทุกๆ พื้นที่ของประเทศไทย จากการรับข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบนภาคพื้นดิน และข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ปนเปื้อนในอากาศใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดและอัพเดทในทุกๆ ชั่วโมง

          

(ตัวอย่างแอปพลิเคชัน สีของแผนที่จะแสดงโดยอ้างจากความเข้มข้นของ pm2.5 ส่วนสีของสถานีตรวจวัดจะอ้างจากค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (THAI AQI) )

     ในส่วนของการใช้งาน ตัวแอปฯสามารถที่จะแสดงค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ด้วยหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ได้ทั้งตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งานจนถึงการแสดงผลในรูปแบบของแผนที่ทั่วประเทศไทย เจาะลึกลงไปถึงระดับตำบล โดย APP เช็คฝุ่นนั้นจะใช้เกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษในการแสดงสัญลักษณ์ทั้งหมด 5 สีพร้อมตัวเลขและคำอธิบายกำกับ เรียกได้ว่าหน้าตาของแอปพลิเคชันนั้นเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานและมีประโยชน์อย่างมาก หากแฟนเพจท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android

#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #ดัชนีคุณภาพอากาศ #AQI #PM25 #เช็คฝุ่น #อว #วช #มองโลกมองเรา #มองไปกับเป็ด

Phapawich Mahamart 24/3/2022 2
Share :