Head GISDTDA

SPACE Update : Thermal Vacuum Chamber: การเตรียม THEOS-2A ให้รับมือกับสภาวะสุญญากาศ

   แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมในอวกาศกับบนโลกย่อมแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนั้นคือสิ่งที่ดาวเทียมต้องเผชิญเมื่อขึ้นสู่วงโคจรแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและข้อผิดพลาดในการทำงานของดาวเทียมการทดสอบดาวเทียมก่อนการปล่อยจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องใส่ใจ และตอนนี้ ดาวเทียม THEOS-2A ก็กำลังผ่านการทดสอบทีละขั้นตอนเพื่อให้มั่นใจว่า ตั้งแต่ติดตั้งกับจรวดขนส่ง จนถึงวินาทีที่ขึ้นสู่วงโคจร ดาวเทียมจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

   เชื่อว่าลูกเพจของเราน่าจะเคยสั่งของออนไลน์กัน สั่งมาแล้วก็ตื่นเต้นใช่ไหมล่ะครับว่าสถานะพัสดุเป็นอย่างไรแล้ว จะถึงมือเราเมื่อไหร่ ของจะตรงปกไหม คิดว่ากับ THEOS-2 ทุกคนน่าจะรู้สึกอย่างเดียวกันเพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมา Unpack ขั้นตอนหลังจากที่ดาวเทียมมาถึงประเทศไทยกันแล้วขั้นต่อขั้นกันเลยครับ

   สำหรับบทความนี้ เราจะพูดถึงการทดสอบ Thermal Vacuum Chamber testing หรือ TVAC ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาครับ Thermal Vacuum Chamber นั้นเป็นการทดสอบเกี่ยวกับสภาวะสุญญากาศและอุณหภูมิร้อนจัดเย็นจัดที่ดาวเทียมจะได้เจอเมื่อขึ้นไปยังชั้นอวกาศ เพื่อจะไม่ให้สภาพแวดล้อมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ในดาวเทียม เราจึงต้องจำลองสภาวะเหมือนจริงในอวกาศมาทดสอบดาวเทียมกันครับ

   การทดสอบเริ่มจากการดูดอากาศออกจาก Chamber เพื่อให้ตัวห้องอยู่ในภาวะสุญญากาศ จากนั้นจึงเพิ่มอุณหภูมิให้ร้อนจัดหรือที่เรียกว่า Hot test วันถัดมาจึงจะลดอุณหภูมิในเย็นจัดหรือ Cold test สลับกันเป็นเวลาประมาณ 7 วัน ในระหว่างนั้นทีมวิศกรจะต้องมีการวางแผนลำดับการทดสอบระบบย่อย(Subsystem) โดยการเลือกระบบย่อยเพื่อทดสอบนั้นจะต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงของดาวเทียมด้วย เช่น เริ่มจากการทดสอบระบบแหล่งจ่ายไฟ แล้วจึงทำการทดสอบระบบประมวลผล เป็นต้น ในแต่ละการทดสอบระบบย่อยจะมีผู้เชี่ยวชาญของแต่ระบบเข้าร่วมทดสอบด้วย

   เมื่อทดสอบระบบย่อยเสร็จแล้วจึงเป็นการทดสอบขั้นตอนสุดท้ายของ Thermal Vacuum Chamber คือการทดสอบในระดับ System level ที่เน้นการทดสอบ Payload ต่าง ๆ บนดาวเทียมรวมไปถึง เพลย์โหลดที่ 3 หรือ 3rd Payload ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่วิศวกรของไทยเราเป็นผู้พัฒนาเองด้วย

   ตลอดการทดสอบ Thermal Vacuum Chamber นี้จะมีวิศวกรประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าสังเกตุอุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบและตัวดาวเทียมเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทดสอบ สำหรับ THEOS-2A ได้ผ่านการทดสอบนี้ไปได้อย่างสมบูรณ์ตามแผนที่คาดไว้ครับ

   สำหรับการทำงานของดาวเทียมในอวกาศนั้น นอกจากเรื่องอุณหภูมิและสภาวะสุญญากาศแล้วยังมีอีกหลายตัวแปรที่เราจำเป็นต้องระวังและทดสอบดาวเทียมเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดหรือความเสียหายเมื่อดาวเทียมขึ้นไปยังอวกาศแล้ว สำหรับการทดสอบขั้นต่อไปจะเป็นอะไร ลูกเพจทุกท่านรอติดตามได้เลยครับ

–––

ขอบคุณข้อมูลจากคุณชิดชนก ชัยชื่นชอบ วิศวกร THEOS-2A

amorn.pet 20/9/2022 0
Share :