Head GISDTDA

GISTDA กับบทบาทผู้สนับสนุนข้อมูลดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล

ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการกระจายเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ภูมิภาคมาอย่างยาวนาน จากข้อมูลใน พ.ศ. 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า กรุงเทพมหานครฯ ครองสัดส่วน GDP ไปถึงร้อยละ 38 ของประเทศ ในขณะที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ครองส่วนแบ่ง GDP ไม่ถึงร้อยละ 10

ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญในเมืองใหญ่จึงไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจระดับประเทศ เพราะส่งผลให้ทรัพยากรบุคคลที่อยู่ต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการตามมา นอกจากนี้ยังส่งผลให้ทรัพยากรที่อยู่ตามภูมิภาคไม่ถูกนำมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน แนวคิดการพัฒนาศูนย์กลางเศรษฐกิจตามภูมิภาคจึงเกิดขึ้นภายใต้แผนการ "พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ" โดยเน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และกติกา เพื่อให้เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงดึงเอาอัตลักษณ์ของภูมิภาคนั้นๆ ยกขึ้นมาเป็นจุดเด่น และเชื่อมโยงไปถึงการค้าชายแดนที่จะเป็นโอกาสสำหรับขยายการลงทุน

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) พื้นที่นำร่องเพื่อการพัฒนา

การพัฒนาพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) ที่มีส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ดังนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC จึงเป็นการพัฒนาต่อยอดจากฐานทรัพยากรเดิมในพื้นที่ เช่น ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicles, EV) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น โดยหนึ่งในเป้าหมายของแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก คือการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเรื่องนี้ และได้จัดตั้งแผนพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) แยกออกมาการดำเนินการภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd)

EECd ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 830 ไร่ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เน้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve Digital Industry) อีกทั้งยังเป็นศูนย์สร้างธุรกิจดิจิทัลใหม่ ๆ ที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ภายในพื้นที่กว่า 830 ไร่ เป็นที่ตั้งของหลายองค์กร และหนึ่งในนั้นคือ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ Space Krenovation Park เรียกสั้นๆ ว่า SKP ภายใต้การกำกับดูแลของ GISTDA

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับความเห็นชอบให้กำหนด SKP เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) และ กพอ. ได้ประกาศกำหนดให้ SKP เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีบทบาทในการผลักดันอุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่อยู่ในเขตพื้นที่ EECd และส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่สนใจในการลงทุน ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)

"SKP เป็นส่วนงานของ GISTDA ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ก่อนการจัดตั้งเขตพื้นที่ EECd มีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค ที่ค่อนข้างครบครัน ดังนั้น SKP จึงเป็นสถานที่ที่พร้อมรองรับทั้งผู้บริหาร นักลงทุน นักวิจัย นวัตกร และนักการทูตจากประเทศต่างๆ ที่สนใจเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศรวมตลอดถึงอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย"

"SKP มีศูนย์ทดสอบวัสดุอวกาศยานมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้บริการทดสอบวัสดุโครงสร้าง หรือวัสดุของอวกาศยาน ทั้งธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอวกาศยานและการซ่อมบำรุงอวกาศยาน มีศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ เป็นศูนย์สำหรับประกอบ ทดสอบดาวเทียม (AIT Facility Competency) เพื่อการวิจัยและพัฒนารวมไปถึงการทดสอบชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย"

นอกจากนี้ GISTDA ยังมีแผนความร่วมมือส่งเสริมธุรกิจปลายน้ำด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมในเชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคต

ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศคือความโดดเด่นของ SKP ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลใน EECd

ปัจจุบัน ข้อมูลดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และ GISTDA ก็มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลดาวเทียมแห่งชาติ เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานที่มีความสนใจ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมได้สูงสุด ซึ่งสอดรับเป็นอย่างดีกับแผนการพัฒนา Data Center ของ EECd

ที่ผ่านมา SKP ได้จัดแสดงนวัตกรรมทางดิจิทัลที่ประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ เช่น การจัดแสดงระบบดาวเทียมนำทาง (GNSS) ของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่งแม่นยำสูงต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านเกษตร พาหนะไร้คนขับ การสำรวจ และการก่อสร้างด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

นอกจากนี้ SKP ยังมี Astrodynamics Research Laboratory หรือ Astrolab ซึ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ ซึ่งเน้นด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร ที่มุ่งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศใน 4 ด้านหลักๆที่สำคัญ ได้แก่

1. การวิจัยและศึกษาพลวัตของการบินในอวกาศ (Space flight dynamics)

2. การวิจัยพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ควบคุมการปฏิบัติการดาวเทียมขนาดเล็ก 100-500 kg (Onboard flight software for small satellite 100-500 kg)

3. การวิจัยที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและบรรเทาภัยจากขยะอวกาศหรืออุกกาบาตที่กระทบต่อมวลมนุษยชาติ (Space debris and asteroid mitigation)

4. การศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ (Space weather forecast)

โดยภารกิจทั้ง 4 ด้านของ Astrolab นี้สามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ EECd เป็นความหวังของประเทศไทยที่จะผลักดันขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ และเกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับผู้คนมากมาย ทำให้เกิดการกระจายตัวของประชากรออกสู่ภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ทุกการพัฒนาย่อมเกิดจากรากฐานที่มั่นคง ดังนั้น ในช่วงแรกของ EECd จึงเป็นการเร่งเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ SKP ภายใต้การกำกับดูแลของ GISTDA ก็พร้อมสนับสนุนข้อมูลดาวเทียมและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EECd ในระยะต่อไป...

ขอบคุณข้อมูล: นายชินทัตต์ เขียวแก้ว นักพัฒนานวัตกรรมชำนาญการ กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ จาก GISTDA

#GISTDA #จิสด้า #ข้อมูลดาวเทียม #เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ #EEC #เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล #พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ #พื้นที่EECd

Nattakarn Sirirat 1/12/2022 0
Share :